Thailand Survivor ต้องรอด “ประเทศไทยถึงเวลาต้องทรานส์ฟอร์ม”

หลังประเทศไทยเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ซ้ำ และยังไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์จะผ่อนคลายลง ส่งผลให้รัฐบาลต้องปรับแผนจัดหาและเร่งการฉีดวัคซีนเพื่อสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” ให้เร็วขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีการเตรียมแหล่งเงิน “ก้อนใหม่” ไว้รับมือสถานการณ์ในอนาคต

“ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวบรรยายพิเศษ หัวข้อ Thailand Survivor ในงานสัมมนาก้าวสู่ปีที่ 45 ประชาชาติธุรกิจ “Thailand Survivor ต้องรอด” ว่า ประเทศไทยผ่านวิกฤตครั้งใหญ่ ๆ มาแล้ว 2 ครั้ง คือ ในปี 2540 ที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง และในปี 2552 ที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ซึ่งก็รอดมาได้ ขณะที่วิกฤตตอนนี้เป็นวิกฤตโรคระบาดที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับที่ผ่านมาโดยทุกประเทศได้รับผลกระทบแบบเดียวกัน และมีการใช้มาตรการด้านสาธารณสุขดูแลเพื่อจำกัดการระบาดเช่นเดียวกัน

“สิ่งที่แตกต่างกันกับวิกฤตที่ผ่านมา คือ ครั้งนี้ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศมีข้อจำกัด การเดินทางก็จำกัด การจะไปใช้จ่ายก็จำกัด มาตรการสาธารณสุขที่มีก็เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ขณะเดียวกัน ก็กระทบภาคธุรกิจด้วย ดังนั้น เรื่องนี้ทำให้เกิดผลกระทบในวงที่กว้างขวางกว่าวิกฤตที่ผ่านมา”

3 เครื่องยนต์ค้ำยันเศรษฐกิจไทย

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะยืนอยู่ได้ด้วย 3 ส่วน คือ 1.การส่งออก 2.การลงทุนภาครัฐ และ 3.การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งขณะนี้การส่งออกขยายตัวดีขึ้น โดยในไตรมาส 1 การส่งออกขยายตัว 11% และในเดือน เม.ย.ขยายตัวได้ 25% ดังนั้น อุตสาหกรรมภาคการส่งออกจะได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น และธุรกิจเอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก
ก็จะได้รับประโยชน์เช่นกัน โดยภาคอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบที่ผ่านมาภาครัฐก็มีมาตรการต่าง ๆ เยียวยาช่วยเหลือ เริ่มจากการเยียวยาประชาชนผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกัน การเยียวยาเกษตรกร กลุ่มเปราะบาง หรือการออกมาตรการกระตุ้น
การใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นคนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเกิดประโยชน์กับประชาชนในแง่ของการลดค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกัน ผู้ค้ารายย่อย แม่ค้า พ่อค้าในตลาดก็ได้ประโยชน์

นอกจากนี้ ยังมีซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท ซึ่งปีที่ผ่านมามีคนไปใช้อยู่ 1 แสนล้านบาท และปัจจุบันได้ปรับปรุงเป็นซอฟต์โลนสำหรับช่วยเหลือเอสเอ็มอี 2.5 แสนล้านบาท โดยปรับเงื่อนไขให้ยืดหยุ่นมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งก็คือโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการที่ลดภาระตัวเองจากเงินกู้ก็เอาทรัพย์สินมาวางไว้แล้วเอาเงินไป เพื่อปลดหนี้ให้ตัวเองแล้วก็ทำธุรกิจต่อและมาซื้อคืนได้ภายหลัง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาซื้อธุรกิจไทยในราคาถูก

“แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่ง อาจจะยังไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการที่รัฐออกมา ยังคงมีปัญหาต้องต่อสู้ดิ้นรนต่อ ซึ่งกลุ่มเหล่านั้นเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคลที่อาจจะยังไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการภาครัฐที่ออกมา”

จ่อช่วยเอสเอ็มอีรักษาการจ้างงาน

“ดนุชา” กล่าวว่า เรื่องที่สำคัญและอยู่ระหว่างการจัดเตรียม คือ การรักษาระดับการจ้างงานในภาคเอสเอ็มอี โดยเน้นที่ผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งกลุ่มนี้สู้มา 1 ปีแล้ว ถึงวันนี้ภาครัฐอาจจะต้องให้ออกซิเจนเพิ่มเติม เพื่อช่วยปลดเปลื้องภาระในแง่ของการจ้างงาน เพื่อให้ธุรกิจมีสภาพคล่องเพียงพอและไม่ให้มีการปลดคนงานออก

“ภาครัฐก็ต้องเข้าไปช่วยให้เขารักษาระดับการจ้างงานต่อไปให้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตซ้ำซ้อน อันนี้เป็นสิ่งที่รัฐกำลังเตรียมและจะทำในช่วงที่เหลือของปี”

กู้ 5 แสนล้าน รับมือระลอกใหม่

ขณะที่ล่าสุดมีพระราชกำหนดกู้เงินเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท เตรียมไว้สำหรับแผนงานด้านสาธารณสุข วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ทั้งการซื้อวัคซีน อุปกรณ์ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ รักษาโรค ส่วนอีก 3 แสนล้านบาท เตรียมไว้เยียวยาประชาชนทุกอาชีพ รวมทั้งผู้ประกอบการ และอีกส่วนจะใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท

“เงินเยียวยา 3 แสนล้านบาท เตรียมไว้สำหรับการใช้ช่วยเหลือประชาชนหากเกิดการระบาดขึ้นมาอีกครั้ง หรือหากยังไม่เกิดการระบาดแล้วมีความจำเป็นที่จะเข้าไปช่วยในแง่ของการช่วยเหลือภาคเอสเอ็มอีที่สู้มาตลอดประมาณ 1 ปีแล้ว ส่วนนี้ก็จะเป็นออกซิเจนตัวหนึ่งที่จะไปช่วยเขาให้เขามีชีวิตเดินต่อไปได้ อย่างไรก็ดี การช่วยเหลือตรงนั้นต้องเป็นการช่วยเหลือแบบพุ่งเป้า มีความชัดเจนของกลุ่มที่จะเข้าไปช่วย ซึ่งได้ประสานงานกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ออกแบบมาตรการขึ้นมาเพื่อให้สามารถช่วยกลุ่มเอสเอ็มอีให้ตรงเป้ามากขึ้น”

ทั้งนี้ ในวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอีก 1.7 แสนล้านบาท จะมีส่วนหนึ่งที่จะใช้ในการลงทุนเพื่อให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะว่ากว่างบประมาณปี 2565 จะออกก็ประมาณเดือน ต.ค. 2564 และงบประมาณปี 2565 เองก็มีวงเงินที่จำกัดมาก ดังนั้น จะเป็นตัวเสริมการลงทุนของรัฐบาลและช่วยกระตุ้นการบริโภคเพื่อรักษาระดับการบริโภคแต่ละช่วงเวลาให้อยู่ในระดับปกติ

ท่องเที่ยวไม่ปกติอีกกว่า 2 ปี

นายดนุชากล่าวอีกว่า เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะรอดได้ถ้าช่วยกัน โดยภาคธุรกิจเองจะต้องปรับตัวโดยเฉพาะในภาคของการท่องเที่ยว เพราะหากถามว่าภาคท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมเมื่อไร ก็ต้องตอบตามตรงว่าไม่มีใครตอบได้ชัดเจนนักในช่วงนี้ แต่ข้อมูลในการประมาณการของผู้คนในโลกผ่านการเดินทางทางอากาศ มีการประมาณการออกมาว่าใช้เวลาอีกกว่า 2 ปี การเดินทางระหว่างประเทศจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนในช่วงปี 2562 หมายถึงการท่องเที่ยวก็จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องไปด้วย แต่ในช่วง 2 ปีการเดินทางภายในประเทศจะเริ่มเติบโตมากขึ้น สามารถเข้าสู่ระดับปกติได้เร็วกว่า

วัคซีนคือคำตอบพาประเทศพ้นวิกฤต

โดยนอกเหนือจากมาตรการภาครัฐที่เตรียมไว้ มั่นใจว่าประเทศไทยน่าจะรอดได้ คือ เรื่องวัคซีนซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากที่จะทำให้วิกฤตครั้งนี้จบลงได้เร็วขึ้น ถึงจะไม่ได้ถึงขั้นทำให้ไม่มีคนติดเชื้อเลย เพราะคงอาจจะมีอยู่บ้าง แต่วัคซีนจะช่วยตัดวงจรการระบาดออกไปได้ และจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้

“วัคซีนเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องฉีดวัคซีนให้ได้ตามแผนด้วย ขณะเดียวกัน ก็ขอความร่วมมือให้ทำในแง่มาตรการของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำได้ดี คาดว่าถึงสิ้นปีน่าจะทำได้ตามแผน 5 ล้านโดส”

ทรานส์ฟอร์มประเทศเพื่ออนาคต

เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า หากหลุดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ไปได้แล้ว ประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพราะยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่าง ๆ อยู่ ไม่สามารถวางใจได้ทั้งเรื่องดิสรัปชั่นต่าง ๆ เช่น ดิจิทัลดิสรัปชั่น สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิถีชีวิต เป็นต้น นอกจากนี้ ต้องแก้ปัญหาโครงสร้างอย่างโครงสร้างการผลิตที่ไม่ได้มีการปรับปรุงเทคโนโลยีใหม่ ๆ มานาน ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มปรับปรุงแล้ว ซึ่งอาจจะแซงไทยไปแล้วก็ได้ และต้องดูแลเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบาง ทั้งจากหนี้ครัวเรือน ความเหลื่อมล้ำ

“ผมคิดว่าประเทศไทยถึงเวลาที่จะทรานส์ฟอร์ม ต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อสร้างโอกาสและลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น เพื่อขจัดข้อจำกัดที่จะบั่นทอนขีดความสามารถของประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แก้ปัญหาก๊าชเรือนกระจก ซึ่งจะสอดรับกับทิศทางของโลกในอนาคต สิ่งที่ต้องทำหลังจากพ้นวิกฤตในครั้งนี้ คือเปลี่ยนแปลงไปสู่ประเทศที่มีเศรษฐกิจสามารถที่จะสร้างราคาได้สูงขึ้น สังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้ มีการใช้ความรู้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำธุรกิจ สร้างเศรษฐกิจของประเทศ”

โดยเลขาธิการ สศช.กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “ผมมั่นใจว่าเราจะรอดจากวิกฤตครั้งนี้ได้แน่ ๆ ถ้าเราช่วยกัน”