ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ จับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคสหรัฐ

เงินบาท-SET-ตลาดหุ้นไทย

ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ ตลาดจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 24-28 พฤษภาคม 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (24/5) ที่ระดับ 31.36/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (21/5) ที่ระดับ 31.35/37 ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบรษัทให้บริการข้อมูลทางการเงินเปิดเผยว่า ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐดีดตัวสู่ระดับ 68.1 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากระดับ 63.5 ในเดือนเมษายน โดยดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงมีการขยายตัวทั้งภาคการผลิตและบริการ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก เปิดเผยว่า ดัชนี Chicago Fed National Activity Index (CFNAI) ปรับตัวลงสู่ระดับ 0.24 ในเดือนเมษายน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.20 จากระดับ 1.71 ในเดือนมีนาคม

อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์ยังคงได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้ว่าเฟดจะกล่าวว่าเฟดจะยังดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป ทั้งนี้ ในกลางสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเทียบเงินสกุลหลักภายหลังจากที่มีการเปิดเผยผลสำรวจของ The Conference Board ในวันอังคาร (25/5) ที่ผ่านมา โดยตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 117.20 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 119.00 อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐที่ระดับ 863,000 ยูนิต ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 970,000 ยูนิต

นอกจากนี้นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานธนาครกลางสหรัฐ สาขาชิคาโก ได้ออกมากล่าวสนับสนุนนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของเฟด แม้ว่าตลาดยังคงมีความกังวลในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยนายชาร์ลส์ อีแวนส์ เน้นย้ำว่าเฟดมีเครื่องมือทางการเงินที่จะสามารถรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้ และมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังฟื้นตัวในอัตราที่น่าพึงพอใจ ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐในวันศุกร์ และความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอย่างใกล้ชิด

สำหรับปัจจัยในประเทศ ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกเดือนเมษายน 64 มีมูลค่า 21,429.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.09% เมื่อเทียบเดือนเมษายน 63 โดยมีปัจจัยบวกจากากรฟื้นตัวของภาคการผลิต การระดมฉีดวัคซีนทั่วโลก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในภาคการผลิตและการบริโภค

อย่างไรก็ตาม เมื่อหักสินค้าเเกี่ยวเนื่องน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัแล้ว การส่งออกขยายตัว 25.70% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สะท้อนการเติบโตที่ฟื้นตัวจากภาคเศรษฐกิจจริง ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 21,26.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 29.79% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 182.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ภาพรวมในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-เมษายน) การส่งออกมีมูลค่า 85,577.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.78% และการนำเข้ามีมูลค่ารวม 84,879.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.85% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 698.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังคงติดตามสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดในประเทศ เนื่องจากมีการตรวจพบเชื้อไว้รัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่เข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุด ได้แก่ สายพันธุ์อินเดีย และสายพันธุ์แอฟริกา ทำให้มีความกังวลต่อการแพร่ระบาด รวมทั้งประสิทธิภาพของวัคซีนหลักที่ใช้อยู่ในขณะนี้ว่าจะสามารถป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์ดังกล่าวได้เพียงพอหรือไม่ รวมทั้งแนวทางการกระจายวัคซีนในประเทศด้วย โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.22-31.39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (21/5) ที่ระดับ 31.27/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (24/5) ที่ระดับ 1.2182/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/5) ที่ระดับ 1.2232/34 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงในวันจันทร์จากการแข็งค่าของดอลลาร์ อย่างไรก็ดีสถานการณ์โควิดในยุโรปนั้นปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นธุรกิจ จึงส่งผลให้ค่าเงินยุโรปปรับตัวแข็งค่าขึ้นในภายหลัง ขณะที่ในกลางสัปดาห์ค่าเงินยูโรกลับมาปรับตัวอ่อนค่าลงจากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจในแถบสหภาพยุโรปที่อ่อนแอ

โดยสถาบัน GFK ได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของเยอรมนีที่ระดับ -7.0 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ -5.3 อีกทั้งสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขดุลการค้าของฝรั่งเศสที่ระดับ 3.29 พันล้านยูโร ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 4.85 พันล้านยูโร อย่างไรก็ดี ค่าเงินยูโรยังได้รับปัจจัยหนุนในบางจังหวะจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ขณะที่เจ้าหน้าที่ ECB ระบุว่า ขณะนี้ยังอาจเป็นการเร็วเกินไปที่จะหารือเรื่องการปรับลดการซื้อพันธบัตรฉุกเฉิน ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.2170-1.2266 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (28/5) ที่ระดับ 1.2184/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (24/5) ที่ระดับ 108.96/98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับปิดตลาดวันศุกร์ (21/5) ที่ 1808.67/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวค่าเงินสกุลเงินหลักอื่น โดยค่าเงินเยนปรับตัวเคลื่อนไหวแกว่งตัวในกรอบแคบเนื่องจากตลาดยังคงขาดปัจจัยที่สำคัญ ทั้งนี้ในแง่ของสถานการณ์โควิดในประเทศญี่ปุ่นนั้นยังคงมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก โดยญี่ปุ่นได้มีการเปิดศูนย์ฉีดวัคซีนขนาดใหญ่ที่กรุงโตเกียวและโอซาก้า เพื่อเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับประชาชน หลังจากโครงการฉีดวัคซีนของญี่ปุ่นล่าช้ากว่าประเทศอื่นจนเป็นเหตุให้เกิดกังวลเกี่ยวกับแผนการจัดการแข่งขันกีฬาโตเกียวโอลิมปิก

โดยเมื่อเช้าวันศุกร์ (28/5) รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมขยายประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ในวันนี้ต่อไปอีก 3 สัปดาห์ จนถึงวันที่ 20 มิถุนายน ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่กรุงโตเกียวและอีก 8 จังหวัด ก่อนที่มหกรรมกีฬาโตเกียวโอลิมปิกจะเปิดฉากขึ้นในอีกเพียงเดือนเศษ ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินเยนร่วงลงอยู่ที่ 109.90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.5-109.95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (28/5) ที่ระดับ 109.88/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ