โชว์รูมรถ-คอมมิวนิตี้มอลล์ ชักแถวเข้า “โกดังแช่แข็งหนี้”

“โรงแรม-โชว์รูมรถ-คอมมิวนิตี้มอลล์” เข้าแถว “พักทรัพย์ พักหนี้” แช่แข็ง 5 ปี แบงก์วุ่นเจรจาลูกค้า “กสิกรไทย” เผยต้น มิ.ย.ยื่น ธปท.ลอตแรก ttb ดึง “อสังหาฯให้เช่า” ร่วมโครงการ “แบงก์กรุงเทพ-แบงก์แลนด์ฯ” เร่งเคลียร์มาตรการใหม่ ธปท.ประเดิมอนุมัติ 4 ราย เฉียดพันล้าน

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยได้เตรียมวงเงินสินเชื่อฟื้นฟู 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ คาดว่าจะสามารถช่วยลูกค้าธุรกิจได้กว่า 1 หมื่นราย เน้นช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง อาทิ ธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการรายย่อย เป็นต้น

นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ต้นเดือน มิ.ย.นี้ ธนาคารจะยื่นเรื่องขอให้ลูกค้าเข้าร่วมโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) หรือโกดังพักหนี้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการเจรจาพูดคุยกับลูกค้าหลายสิบรายที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งลูกค้าอยู่ระหว่างการตัดสินใจ เนื่องจากหลายรายยังกังวลประเด็นต่าง ๆ อาทิ การโอนหลังโฉนด หรือโอนทรัพย์มาไว้กับธนาคาร ขั้นตอนการโอนทรัพย์กลับคืน รวมถึงการเช่าหรือการดูแลรักษาจะมีวิธีการอย่างไร เป็นต้น

โรงแรม-โชว์รูมรถ แห่พักทรัพย์

“ต้องยอมรับว่าทรัพย์มีมูลค่าค่อนข้างสูง ลูกค้าจึงต้องใช้เวลาตัดสินใจ ปัจจุบันมีลูกค้ากสิกรฯที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการหลากหลายเซ็กเตอร์ และทรัพย์หลายประเภท ซึ่งได้รับผลกระทบเกี่ยวเนื่องกับการระบาดของโควิด-19 เช่น กลุ่มโรงแรม โชว์รูมรถ คอมมิวนิตี้มอลล์ (community mall) เป็นต้น มูลค่าทรัพย์เฉลี่ยอยู่ที่ 300-400 ล้านบาท คาดว่าจะเจรจาแล้วเสร็จ และสามารถยื่นขอเข้าร่วมโครงการกับ ธปท.ได้ภายในต้นเดือน มิ.ย.นี้”

นายชัยยศกล่าวว่า ด้านความคืบหน้าสินเชื่อฟื้นฟู ปัจจุบันธนาคารได้กำหนดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อ โดยให้ร่วมกับสถาบันการเงินอื่นเป็นวงเงิน 1 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลา 6 เดือน ตามนโยบายของ ธปท.ที่ต้องการให้ช่วยเร่งการปล่อยสินเชื่อสู่ผู้ประกอบการ ซึ่งธนาคารได้สำรวจลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

พบว่ามีลูกค้าสนใจและยื่นขอสินเชื่อเข้ามาบ้างแล้ว อย่างไรก็ดี วงเงินช่วงแรกยังค่อนข้างน้อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการติดต่อลูกค้าช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ทำได้ค่อนข้างยาก การสำรวจติดขัด แต่หลังจากนี้วงเงินสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ

ลุ้นปล่อยสินเชื่อฟื้นฟู 1 แสนล้าน

“เป้าหมายแรกของธนาคาร คือ ต้องเบิกวงเงินสินเชื่อจาก ธปท.ภายในเดือน พ.ค. ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท และระยะต่อไปต้องเบิกให้ได้ตามเป้าที่ธนาคารแจ้งไว้ 1.5 หมื่นล้านบาท ใน 6 เดือน ตอนนี้เรากำลังเร่งกระบวนการ เร่งติดต่อลูกค้า ซึ่งมีการอนุมัติภายในแล้ว จะเร่งทำสัญญาและเบิกเงิน ธปท.ให้ลูกค้าได้รับเงินสินเชื่อฟื้นฟูเร็วที่สุด” นายชัยยศกล่าว

ttb เร่งเจรจาลูกค้า

นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) กล่าวว่า การดำเนินการโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ของธนาคารคืบหน้าเช่นเดียวกัน โดยได้สำรวจลูกค้าที่สนใจเข้าโครงการ ซึ่งหลายรายอยู่ระหว่างพูดคุยเจรจาทำความเข้าใจในรายละเอียด เนื่องจากเป็นโครงการใหม่ แตกต่างจากสินเชื่อฟื้นฟู ที่ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีมีความคุ้นเคยในการใช้สินเชื่ออยู่แล้ว

สำหรับทรัพย์ที่ลูกค้าให้ความสนใจและอยู่ระหว่างเจรจาเข้าโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ จะเป็นกลุ่มโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ และอสังหาฯให้เช่า เป็นต้น โดยมูลค่าทรัพย์เฉลี่ยอยู่ระหว่าง 100-1,000 ล้านบาท เนื่องจากหากเป็นทรัพย์มูลค่าหลักสิบล้านบาท ลูกค้าจะเน้นใช้วิธีการปรับโครงสร้างหนี้ และยืดหนี้ขยายเทอมการชำระมากกว่าเข้าโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ อย่างไรก็ดี คาดว่าภายในต้นไตรมาส 3 จะเร่งทำสัญญาลูกค้าได้อย่างน้อย 1-2 ราย

“ตอนนี้พักทรัพย์ พักหนี้คืบหน้าพอสมควร ยอมรับว่าเป็นเรื่องใหญ่ จึงต้องสร้างความเข้าใจลูกค้า เพราะทรัพย์จะอยู่กับเรา 5 ปี ซึ่งหลังเจรจาก็มีลูกค้าสนใจเข้าร่วม ส่วนการปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูค่อนข้างกระจายหลายกลุ่ม”

สำหรับแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจเอสเอ็มอีปีนี้ ประเมินว่า สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงเป็นสินเชื่อที่มีอัตราการเติบโตได้ แต่ไม่หวือหวา เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา โดยกลุ่มที่ยังมีการเติบโต เช่น อาหาร โรงพยาบาล อิเล็กทรอนิกส์ และพลังงาน เป็นต้น

ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอี การปล่อยสินเชื่อใหม่ยังคงเป็นไปด้วยความระมัดระวัง และการพิจารณาสินเชื่อมีความเข้มงวด ดูความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเป็นพิเศษ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาจะปล่อยสินเชื่อหมุนเวียน ส่วนการลงทุนใหม่อาจมีไม่มากนัก

หนุนสภาพคล่องธุรกิจท่องเที่ยว

ขณะที่ นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารได้ยื่นคำขอสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อเบิกวงเงินกับ ธปท.ไปแล้วบางส่วน เป็นการทยอยขอวงเงิน ซึ่งธนาคารพยายามช่วยเหลือให้ลูกค้าได้มากที่สุด และกระจายไปทุกเซ็กเตอร์ โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องภาคบริการและการท่องเที่ยว เช่น กลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร และร้านขายของ เป็นต้น เพื่อช่วยลูกค้าเสริมสภาพคล่องประคองธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

ขณะที่โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ลูกค้ายังสนใจเข้าร่วมโครงการน้อย เนื่องจากเป็นมาตรการใหม่ ค่อนข้างซับซ้อนและมีรายละเอียดเยอะ ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ เนื่องจากลูกค้ายังติดประเด็นเรื่องวิธีการปฏิบัติ การตีมูลค่าทรัพย์ การโอนทรัพย์ไปและกลับในช่วงระยะเวลา 5 ปี และหลังจากโอนทรัพย์ให้ธนาคารแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อ

“เราทยอยยื่นคำขอสินเชื่อฟื้นฟูไปแล้วจำนวนหนึ่ง และพยายามเร่งติดต่อลูกค้าให้การช่วยเหลือให้มากที่สุด เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ ธปท.กำหนด แต่ภาพรวมยังไม่สามารถกำหนดวงเงินสินเชื่อได้ แต่จะเร่งช่วยทุกกลุ่ม เพื่อประคองให้พ้นวิกฤตนี้ไปได้ และเชื่อว่าหลังโควิดสามารถควบคุมได้ กำลังซื้อต่าง ๆ น่าจะกลับมาได้” นายศิริเดชกล่าว

แบงก์หวั่นทิ้งทรัพย์

ด้าน นางสาวชมภูนุช ปฐมพร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH Bank กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูให้กับลูกค้าแล้ว 300-400 ล้านบาท และคาดว่าสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ ขณะที่มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ได้มีการกำหนดกติกาและเงื่อนไขภายในธนาคารเรียบร้อยแล้ว โดยต้องการช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีความตั้งใจดำเนินธุรกิจต่อหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด

ปัจจุบันมีลูกค้าผู้ประกอบการที่ให้ความสนใจและเข้าร่วมมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ และอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดและกฎระเบียบต่าง ๆ ก่อนจะตัดสินใจ อาทิ กลุ่มโรงแรมและอพาร์ตเมนต์ ซึ่งกระจายอยู่ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด คาดว่าจะมีลูกค้าตัดสินใจเข้าโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ได้ภายในเร็ว ๆ นี้

“ยอมรับต้องใช้เวลาสำหรับโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เพราะมีหลักเกณฑ์ค่อนข้างซับซ้อน เนื่องจากลูกค้ากังวลว่าธนาคารจะยึดทรัพย์ และธนาคารเองก็กลัวลูกค้าจะทิ้งทรัพย์ไว้ และระหว่างทางในการเช่าหากลูกค้าไม่จ่ายค่าเช่า จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ธนาคารและลูกค้าต้องทำความเข้าใจกัน ธนาคารจึงกำหนดหลักเกณฑ์ภายในว่าต้องเป็นลูกค้าที่มีความตั้งใจทำธุรกิจต่อจริง ๆ เพราะไม่ต้องการให้ลูกค้าโยนหรือนำทรัพย์ทิ้งไว้กับธนาคาร” นางสาวชมภูนุชกล่าว

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ล่าสุด ธปท.รายงานตัวเลขความคืบหน้าการปล่อยสินเชื่อฟื้นฟู ณ วันที่ 17 พ.ค. 64 อยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท วงเงินเฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 2.1 ล้านบาท ขณะที่มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ อนุมัติไปแล้ว 4 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อราว 910 ล้านบาท