โบรกฯ แนะหุ้นไทย ขึ้นขายลงซื้อ กรอบใหญ่ 1,570-1,590 จุด

หุ้นไทยวันนี้แกว่งตัว 1,570-1,590 จุด โบรกฯแนะกลยุทธ์ลงทุน “ขึ้นขายลงซื้อ” ในกรอบใหญ่ 1,550-1,610 จุด ทยอยสะสมหุ้นกลุ่มเปิดเมือง ทั้งในและต่างประเทศไม่เกิน 40% ของพอร์ต พร้อมตัดขาดทุนหากปัจจัยเปลี่ยนแปลงในเชิงลบ-เดือน มิ.ย. นักลงทุนคาดหวังแผนฉีดวัคซีน

วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) รายงานแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้จะผันผวนในกรอบระหว่าง 1,570-1,590 จุด ขณะที่นักลงทุนเริ่มหันกลับมาให้น้ำหนักกับปัจจัยใหม่ คือ ความหวังการเปิดเมือง แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการกระจายวัคซีนของไทยว่าจะสามารถทำได้รวดเร็วเพียงใด จนส่งผลทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อภายในประเทศลดลง หลังเกิดการระบาดระลอกที่ 3 กว่า 2 เดือนแล้ว สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างมีนัยยะ โดยยังคงมีการพบผู้ติดเชื้อคลัสเตอร์ใหม่ ๆ เป็นระยะ

ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) สหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 1.58% หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐบางตัวเริ่มชะลอลง หากแต่ตัวเลขเงินเฟ้อดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน เม.ย. เร่งตัวขึ้น อาจยังส่งสัญญาณไม่ชัดเจนนักต่อการตัดสินใจปรับนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (FED)

กลยุทธ์การลงทุน ภาพใหญ่ยังคงมองการ “ขึ้นขาย ลงซื้อ” ในกรอบใหญ่ 1,550-1,610 จุด ทยอยสะสมหุ้นกลุ่มเปิดเมือง ทั้งในและต่างประเทศในสัดส่วนไม่เกิน 40% ของพอร์ตการลงทุน และพร้อมตัดขาดทุนหากปัจจัยมีการกลับมาเปลี่ยนแปลงในเชิงลบอีกครั้ง

โดยเดือน มิ.ย.นี้ ประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่การกระจายวัคซีนอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ต้องรอติดตามการส่งมอบวัคซีน AstraZeneca ของบริษัท SBS จำนาน 6 ล้านโดส เพื่อปูพรมฉีดในกรุงเทพมหานครให้ครบ 5 ล้านคนภายในเดือน ก.ค. 64 รวมถึงการจัดหาวัคซีนทางเลือกที่ล่าสุด อย.ได้อนุมัติวัคซีนของ Sinopharm แล้ว

ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงวัคซีนเร็วขึ้นเป็นบวกแก่การเปิดประเทศ เป็นความหวังให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสฟื้นตัวได้ และหนุนให้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) พลิกกลับมาเข้าตลาดหุ้นไทย หลังขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องทุกเดือนตั้งแต่ต้นปี

สถานการณ์เงินเฟ้อสหรัฐเร่งตัวขึ้น โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเผยตัวเลขดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน เม.ย.64 เพิ่มขึ้น 3.6% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จาก 2.4% เทียบช่วงเดียวปีก่อน ในเดือนก่อนหน้า สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้สะท้อนภาพเงินเฟ้อในสหรัฐที่เร่งตัวขึ้น อีกทั้งไบเดนกำลังจะเปิดเผยแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 ของสหรัฐวงเงินกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
สูงที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งหากเงินเฟ้อและเศรษฐกิจสหรัฐโตเร็วเกินไป ท่าทีของเฟดต่อนโยบายการเงินอาจเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าคาด


ปัจจัยสำคัญสัปดาห์นี้ คือ 1.ติดตามการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 วาระที่ 1 และ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท 2.สหรัฐ จีน อังกฤษ เยอรมนี และยุโรป ประกาศตัวเลข Manufacturing PMI 3.การประชุมกลุ่ม OPEC+ และ 4.การประชุมกลุ่ม G7 ที่คาดว่าสหรัฐจะเสนอขึ้นภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% ทั่วโลก