ผู้ว่า ธปท.บี้แบงก์จับมือยักษ์ธุรกิจแก้จุดบอด “เอสเอ็มอี” เข้าไม่ถึงสินเชื่อฟื้นฟู

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ผู้ว่าแบงก์ชาติ ประเมินโควิด-19 ระลอก 3 กระทบภาคธุรกิจ-เอสเอ็มอี เอฟเฟ็กต์การฟื้นตัวเศรษฐกิจลากยาวถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2566 เร่งแก้จุดบอดเอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงสินเชื่อฟื้นฟู ดึงธุรกิจรายใหญ่ชี้เป้าซัพพลายเชนรายย่อย

วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวเปิด “โครงการประสานพลัง เพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” ว่า การระบาดของโควิด-19 ถือเป็นวิกฤตสาธารณสุขที่ทดสอบความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และรายย่อยมาตลอดระยะเวลา 1-1 ปีครึ่งที่ผ่านมา โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ไทยหดตัวมากที่สุดในภูมิภาค เพราะพึ่งพาการท่องเที่ยว และภายหลังจากการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 คาดว่าจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2566

ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสะดุดเป็นช่วง ๆ และธุรกิจภาคการค้าและบริการ รวมถึงเอสเอ็มอีได้ถูกซ้ำเติม ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีต้องเร่งได้รับการเยียวยา โดยภายหลังจากระบาดระลอก 3 หน่วยงานภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือ โดยภาครัฐเน้นมาตรการเยียวยารายได้ เพื่อกระตุ้นรายจ่ายของประชาชน โดยในส่วนของ ธปท.เร่งออกมาตรการช่วยเหลือภาระหนี้ของประชาชน เพื่อให้ลูกหนี้มีตัวช่วยทางเลือกที่เหมาะสมและทันการณ์

อาทิ การชะลอหนี้ออกไป การปรับโครงสร้างหนี้ เช่น ลดการชำระเงินต้น ลดอัตราดอกเบี้ย การคำนวณอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังมีสภาพคล่องช่วยเหลือผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เยียวยาเป็นเงินทุนหมุนเวียน อย่างไรก็ดี จากซอฟต์โลนเดิมที่มีข้อจำกัด จึงไม่เพียงพอ ทำให้ภาครัฐยกระดับโดยกระทรวงการคลังได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท

โดยลดข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น การขยายระยะเวลาช่วยเหลือจาก 2 ปี เป็น 5 ปี การขยายวงเงินจาก 20% เป็น 30% ของยอดวงเงินคงค้าง และกำหนดอัตราดอกเบี้ยในระดับที่เหมาะสมโดยเฉลี่ยไม่เกิน 5% และไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก นอกจากนี้การดึงบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกัน และเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันเพิ่มจาก 30% เป็น 40% และออกแบบให้กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็กได้รับการค้ำประกันมากกว่ากลุ่มอื่น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะขยายเงื่อนไขมาตรการให้ครอบคลุม แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่การบริหารจัดการ โดยธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีความเสี่ยงให้สามารถเข้าถึงมาตรการได้ เนื่องจากที่ผ่านมาสถาบันการเงินประเมินความเสี่ยงได้ยาก และขาดคนกลางที่ช่วยชี้เป้าเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ ดังนั้น มองไปข้างหน้า การฟื้นตัวเศรษฐกิจใช้เวลาจึงต้องเร่งแก้ปัญหา โดยความร่วมมือทั้ง 4 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ สถาบันการเงิน ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และธุรกิจเอสเอ็มอี

โดย 1.ภาครัฐ และ ธปท.จะช่วยลดความเสี่ยงของธุรกิจเอสเอ็มอี และเพิ่มความเข้มข้นในการช่วยเหลือ โดยเพิ่มกลไก บสย.เข้ามาช่วยขับเคลื่อน 2.สถาบันการเงินจะช่วยเชื่อมต่อผู้ประกอบการรายใหญ่ปรับแนวทางช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจรายย่อย 3.ผู้ประกอบการรายใหญ่ มีบทบาทประสานข้อมูลของรายย่อย เพื่อให้สถาบันการเงินประเมินความเสี่ยงได้มากขึ้น และ 4.เอสเอ็มอีจะต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด และยกระดับการบริหารจัดการบัญชี โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อลดต้นทุน และเพื่อความมั่นใจให้กับสถาบันการเงิน

“ความร่วมมือวันนี้ จะช่วยลดข้อจำกัดในเรื่องของความเสี่ยงเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการที่มีคู่ค้าจะแข็งแรงขึ้น และสถาบันการเงินมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อและสามารถขยายฐานลูกค้ามากขึ้น และภาครัฐเองก็สามารถยื่นมือช่วยแก่ผู้ที่ต้องการช่วยได้ ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ขยายผลโครงการนี้ช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอี เพราะจะเห็นว่าเอสเอ็มอีกว่า 1.1 ล้านราย มีการจ้างงานกว่า 7.5 ล้านคน ถือเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจช่วยสร้างโอกาสให้เข้าถึงสินเชื่อดีขึ้น แม้ว่าจะช่วยไม่ได้ทุกคน แต่เป็นประโยชน์ต่อภาพรวม”