“เช่าซื้อ” ตลาดอาเซียนสะดุด โควิดทุบ “ฐิติกร” ติดลบ- “กรุงศรี” ดรอป

จักรยานยนต์
(File photo)Mladen ANTONOV / AFP

พอร์ตเช่าซื้อต่างประเทศสะดุดโควิด-19 ธุรกิจโอดเจอล็อกดาวน์ฉุดยอดปล่อยสินเชื่อร่วง “ฐิติกร” ขมับพอร์ตประเทศเพื่อนบ้าน “สปป.ลาว-กัมพูชา-เมียนมา” หดตัวครั้งแรก -14%ฟาก “กรุงศรี ลีสซิ่ง” ปีนี้ไม่เน้นโตมุ่งรักษาพอร์ตสินเชื่อคงค้างเป็นหลัก มองธุรกิจเช่าlbog=ซื้อใน สปป.ลาวระยะยาวยังมีโอกาส

นายประพล พรประภา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การระบาดของโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลกได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศของบริษัทเช่นกัน โดยบริษัทจำเป็นต้องชะลอการปล่อยสินเชื่อและปรับกลยุทธ์ตามสถานการณ์ เนื่องจากประเทศกัมพูชาและ สปป.ลาวประกาศล็อกดาวน์ และหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วน เช่นเดียวกับไทยซึ่งกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อของบริษัท ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีจำนวนสาขาในกัมพูชา 12 แห่ง สปป.ลาว 3 แห่ง และเมียนมา 1 แห่ง

“หลังจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และนโยบายการล็อกดาวน์ ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อในต่างประเทศหดตัวเป็นปีแรก นับตั้งแต่ทำธุรกิจมา โดยปัจจุบัน ณ สิ้นปี 2563 สัดส่วนพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อต่างประเทศอยู่ราว 1,060 ล้านบาท คิดเป็นการหดตัว-14% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่อยู่ที่ 1,231 ล้านบาท”

อย่างไรก็ดี บริษัทยังมองธุรกิจเช่าซื้อในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดกัมพูชา และ สปป.ลาวยังมีโอกาสเติบโตในระยะยาว เนื่องจากแนวโน้มความต้องการและกำลังซื้อยังมีอัตราการขยายตัวได้ดี ขณะที่คุณภาพสินเชื่อหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับการปล่อยสินเชื่อในไทย โดยปัจจุบันเอ็นพีแอลพอร์ตต่างประเทศรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 3% เทียบกับพอร์ตในไทยที่อยู่ที่ราว 10%

“ธุรกิจเช่าซื้อในประเทศเพื่อนบ้าน ก็ชะลอเหมือนกัน หลังมีโควิด-19 ระบาด เพราะมีการล็อกดาวน์ทำธุรกิจไม่ได้ เช่น สาขาเวียงจันทน์ และพนมเปญ ส่งผลให้พอร์ตต่างประเทศของเราตอนสิ้นปี 2563 ที่ผ่านมา หดตัวเป็นครั้งแรก แต่หากมองในระยะยาว เราเชื่อว่าต่างประเทศยังมีศักยภาพการเติบโตและคุนภาพพอร์ตสินเชื่อค่อนข้างดี แต่ในระยะสั้นอาจต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เพราะทุกอย่างขยับเร็ว” นายประพลกล่าว

นางกฤติยา ศรีสนิท ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า โควิดส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท กรุงศรี บริการเช่าสินเชื่อ จำกัด หรือ “กรุงศรี ลีสซิ่ง” ในประเทศ สปป.ลาว เนื่องจากมีการประกาศล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมหยุดชะงัก และคาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาวจะยังคงชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งมาจากภาคการท่องเที่ยวที่หายไป ทำให้มีผลต่อกำลังซื้อและการดำเนินธุรกิจของกรุงศรี ลีสซิ่ง

“อย่างไรก็ตาม เรามองว่าตลาดใน สปป.ลาวยังมีศักยภาพในการเติบโต โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตเมืองใหญ่ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดมากนัก จึงมีโอกาสขยายตัวของธุรกิจอยู่ ดังนั้น ระหว่างนี้บริษัทได้วางกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจเช่าซื้อของกรุงศรี ลีสซิ่ง ใน 3 ด้าน

ได้แก่ การนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่หลากหลายทั้งสินเชื่อรถยนต์ใหม่ รถยนต์มือสอง รถจักรยานยนต์ใหม่ และคาร์ ฟอร์ แคชโดยการเสริมทัพพนักงานในการให้บริการพันธมิตรตัวแทนจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ครอบคลุมพื้นที่ใน สปป.ลาวเพิ่มขึ้น และการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัลเพื่อยกระดับบริการให้สะดวกรวดเร็ว” นางกฤติยากล่าว

นอกจากนี้ กรุงศรี ลีสซิ่งยังได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามแนวทางของผู้กำกับดูแลของทางการ รวมถึงการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ โดยเน้นให้ความช่วยเหลือตามสภาวการณ์ และพิจารณาการให้ความช่วยเหลือเป็นรายกรณีอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตจีดีพีของ สปป.ลาวจะยังคงชะลอตัว ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากภาคการท่องเที่ยวบริษัทจึงให้ความสำคัญกับการรักษาศักยภาพในการเติบโตธุรกิจของกรุงศรีลีสซิ่งอย่างยั่งยืน ไม่เน้นขยายตัวแบบหวือหวา โดยตั้งเป้ารักษายอดสินเชื่อคงค้างรวม (NEA) ในปี 2564 ไว้ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท

“การล็อกดาวน์ใน สปป.ลาว จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ เมื่อกลางเดือนเมษายน 2564 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการปล่อยสินเชื่อโดยรวมหยุดชะงัก โดยยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้กระจุกอยู่ในแขวงใหญ่และนครหลวงเวียงจันทน์เป็นหลัก ดังนั้น เราคงตั้งเป้ารักษาพอร์ตการเติบโตไว้ที่ 5,000 ล้านบาท และช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบไปพร้อม ๆ กัน”นางกฤติยากล่าว