ทิศทางค่าเงินบาทและดอกเบี้ยของไทย ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

เงินบาท-หุ้นไทย
คอลัมน์ นั่งคุยกับห้องค้า
พีรพรรณ สุวรรณรัตน์
ธนาคารกสิกรไทย

ครึ่งแรกของปี 2564 ที่ผ่านมา ตลาดการเงินของไทยผันผวนสูงทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศ และการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในไทย ทำให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนมีนาคม ก่อนที่จะผันผวนในกรอบ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยอายุ 10 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นไปมากตามสหรัฐ ก่อนที่จะค่อย ๆ ลดลงไปช่วงที่ผ่านมา

เราเห็นความเหลื่อมล้ำด้านอัตราการฉีดวัคซีนอย่างชัดเจน ระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา โดยปัจจุบันอัตราการฉีดวัคซีนในสหราชอาณาจักร แคนาดา สหรัฐ และเยอรมนี อย่างน้อย 1 เข็มได้สูงถึง 56.3% 53.5% 49.4% และ 41.5% ตามลำดับ

ขณะที่ในเอเชียอัตราการฉีดวัคซีนเฉลี่ยเพียง 5.5% เท่านั้น ทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วค่อย ๆ กลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติมากขึ้น และเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็วกว่าภูมิภาคอื่น ๆ และได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในตลาดการเงินด้วย

อย่างไรก็ตาม เราประเมินว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เงินบาทจะยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับสหรัฐ สอดคล้องกับค่าเงินสกุลในเอเชียและตลาดเกิดใหม่

แรงสนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาทและเงินสกุลเอเชียที่สำคัญ คือ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวมเริ่มจากภาคธุรกิจของประเทศพัฒนาแล้วที่ค่อย ๆ กลับมาเปิดกิจการ ทำให้ความต้องการสินค้าส่งออกจากฝั่งตลาดเกิดใหม่สูงขึ้น กลายเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อสกุลเงินเหล่านี้มีแนวโน้มสูงขึ้น

เงินหยวนมีแนวโน้มนำการแข็งค่าของเงินสกุลอื่น ๆ ในเอเชีย เนื่องจากจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ประโยชน์จากการค้าโลกมากที่สุด และยังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกการผลิตสินค้าในจีนที่สูงขึ้นตามความต้องการการส่งออกจึงทำให้อุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีนซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วเอเชียได้อานิสงส์ตามไปด้วย

ตลาดการเงินของจีนที่เปิดเสรีมากขึ้นยังดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศเข้าจีนด้วย โดยเฉพาะฝั่งตลาดตราสารหนี้ที่มีเงินทุนไหลเข้าแล้วกว่า 5.58 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 4 เดือนแรกของปี

และในช่วงครึ่งหลังของปีเงินทุนยังมีแนวโน้มไหลเข้าจีนเพิ่มเติม เนื่องจากบริษัท FTSE Russell ยืนยันเพิ่มพันธบัตรรัฐบาลของจีนเข้าดัชนี WGBI โดยเริ่มตั้งแต่ตุลาคม 2564 นี้ ปัจจัยเหล่านี้สนับสนุนความเชื่อมั่นต่อค่าเงินหยวนรวมถึงค่าเงินอื่น ๆ ในเอเชีย

นอกจากนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังมีแนวโน้มกลับมาเกินดุลในช่วงครึ่งหลังของปี จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่า การค้าโลกที่ฟื้นตัวจะช่วยให้มูลค่าการส่งออกของไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น

และทำให้ดุลการค้าของไทยเกินดุลมากขึ้น ขณะที่แนวโน้มการเปิดประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี แม้เราจะประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยจะต่ำกว่า 1 ล้านคน แต่รายได้ที่เริ่มกลับเข้าประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุนดุลบัญชีเดินสะพัด

อย่างไรก็ตาม เงินบาทมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าในอัตราที่น้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่น ๆในเอเชีย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่า สะท้อนจากการพึ่งพิงการท่องเที่ยวที่อยู่ในระดับสูง และแนวโน้มการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลายาวนานของธนาคารแห่งประเทศไทย

ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตามสำคัญในระยะต่อไป คือ พัฒนาการของตลาดแรงงานของสหรัฐ ซึ่งสะท้อนแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะยาว และท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่อแนวโน้มการลดขนาดมาตรการสินทรัพย์