เปิดคุณสมบัติ “ลูกหนี้” มีสิทธิ์เข้าร่วม มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อ

ธัญญนิตย์ นิยมการ
ธัญญนิตย์ นิยมการ

ธปท.เปิดเกณฑ์คุณสมบัติลูกหนี้เข้าโครงการ “ไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อ” ครอบคลุม 3 กลุ่ม ตั้งแต่ไม่เป็น/เป็นหนี้เสีย-ถูกยึดรถ-ขายทอดตลาด ดึงสถาบันการเงิน 12 แห่งร่วมเจรจาปรับโครงสร้างหนี้-คิดดอกเบี้ยพักหนี้บนค่างวด คาดช่วยลูกหนี้ได้ 3.8 หมื่นล้านบาท ดีเดย์โครงการวันนี้-31 ก.ค. 64

วันที่ 1 มิถุนายน 2564 นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) หรือบริษัทลูกธนาคารที่ทำธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ภายใต้การกำกับดูแลรวม 12 แห่ง เปิด ”มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อ” เพื่อช่วยเจรจาหาทางออกให้กับลูกหนี้เช่าซื้อที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ให้เข้ามาเจรจากับเจ้าหนี้ผ่านช่องทางออนไลน์ ตั้งแต่วันนี้- 31 กรกฎาคม 2564

สำหรับเกณฑ์คุณสมบัติของลูกหนี้ที่จะเข้าโครงการไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อรถยนต์จะครอบคลุมทุกกลุ่ม แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่ไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือเป็นเอ็นพีแอลแล้ว แต่ยังไม่โดนยึดรถ แต่ได้รับความเดือดร้อน จะใช้มาตรการยืดอายุการชำระหนี้ หรือสอดคล้องกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 ของ ธปท.

หรือการขอพักหนี้เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยแนวทางใหม่จะคำนวณดอกเบี้ยในช่วงพักชำระหนี้จากฐานของค่างวดที่ได้พักชำระหนี้ตามเกณฑ์ของ สคบ. ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยในช่วงที่พักชำระหนี้ถูกลงอย่างมาก (แนวทางเดิมเป็นการคำนวณดอกเบี้ยจากฐานของเงินต้นคงค้างทั้งหมด)

สำหรับลูกหนี้ที่เคยพักชำระค่างวดหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และได้รับผลกระทบรุนแรงจนไม่สามารถชำระหนี้ต่อไปได้ สามารถคืนรถยนต์เพื่อลดภาระหนี้ได้ และหากราคาขายรถทอดตลาดที่ได้รับต่ำกว่าภาระหนี้คงค้าง ลูกหนี้สามารถขอผ่อนปรนเพิ่มเติมได้โดยผู้ให้บริการทางการเงินอาจพิจารณายกหนี้ส่วนที่เหลือให้ตามความเหมาะสม

และกลุ่ม 2.ลูกหนี้ที่โดนยึดรถแต่ยังไม่ถูกขายทอดตลาด ซึ่งมาตรการจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ และให้เจ้าหนี้ชะลอการขายทอดตลาด เพื่อนำรถไปใช้ในการประกอบอาชีพ เพื่อนำรายได้มาส่งค่างวดให้กับเจ้าหนี้ แม้ว่าจะช้าหน่อยแต่ยังคงดีกว่าการยึดรถ ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย

และกลุ่ม 3.ลูกหนี้โดนยึดรถและถูกขายทอดตลาดแล้วและยังมีหนี้ส่วนขาด กลุ่มนี้จะมีแนวทางการช่วยเหลือในเรื่องการคำนวณยอดหนี้คงค้างที่เหลือ (ติ่งหนี้) คือ ราคาขายทอดตลาดต่ำกว่ามูลหนี้ โดย ธปท.ได้หารือกับสคบ.ในเรื่องการคำนวณติ่งหนี้ โดยใช้การคำนวณจากคำพิพากษาของสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นการคำนวณติ่งหนี้ที่อิงกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากที่ผ่านมามีการคำนวณติ่งหนี้สูงกว่ามูลค่าค่างวด โดย ธปท.จะมีการกำหนดการคำนวณติ่งหนี้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่นเดียวกับการคำนวณอัตราดอกเบี้ยในช่วงพักหนี้ โดยให้คำนวณดอกเบี้ยบนค่างวด หรือ ค่างวดบวกอัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอก (flat rate) เท่านั้น

ทั้งนี้ เป้าหมายการไกล่เกลี่ยหนี้ ธปท.คาดหวังจะมีลูกหนี้เช่าซื้อเข้ามาจำนวน 1 แสนบัญชี คิดเป็นยอดหนี้เฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 3.8 แสนบาท หรือคิดเป็นมูลค่า 3.8 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี คาดว่าลูกหนี้ที่เข้ามา 1 แสนบัญชีที่เข้าโครงการไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อ ประมาณ 50% หรือราว 5 หมื่นบัญชีจะเป็นลูกหนี้กลุ่มที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอลและยังไม่โดนยึด และอีก 2.5 หมื่นบัญชี จะเป็นกลุ่มที่โดนยึดรถแต่ยังไม่ขายทอดตลาด และที่เหลืออีก 2.5 หมื่นบัญชี จะเป็นกลุ่มที่โดนยึดรถและขายทอดตลาดแล้ว

“การจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อเช่าซื้อในครั้งนี้มุ่งหวังว่าจะเป็นอีกช่องทางที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกหนี้เช่าซื้อได้ เพราะสินเชื่อเช่าซื้อถือเป็นสินเชื่อที่มีปริมาณสูงเป็นอันดับ 3 รองจากบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ทั้งนี้ หากประชาชนที่ไม่ถนัดในการกรอกข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์ สามารถติดต่อ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทรศัพท์ 1213 เพื่อขอคำแนะนำและความช่วยเหลือในการกรอกข้อมูลได้”