EIC ห่วงไตรมาส 2 ว่างงานพุ่งอีก หลังสิ้นเดือน มี.ค. ขยายตัว 1.9%

EIC ห่วงไตรมาส 2 ว่างงานพุ่ง หลังโดนโควิดระลอกใหม่กระทบ คาดหนี้ครัวเรือนไตรมาสแรกทะลุ 91% พร้อมปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้โต 1.9% ชี้ใช้เวลา 4 เดือน ควบคุมโควิดระบาด การบริโภคหด 3.1 แสนล้านบาท

วันที่ 1 มิถุนายน 2564 นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า EIC เริ่มมีสัญญาณอ่อนแรงลงของตลาดแรงงาน ซึ่งอัตราการว่างงาน ณ สิ้นเดือน มี.ค. 64 ขยายตัว 1.96% ซึ่งมาก่อนการระบาดระลอกใหม่ช่วงเดือน เม.ย. จึงคาดว่าในไตรมาส 2 ผลกระทบการว่างงานจะรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ที่มีงานทำ อัตราการทำงานต่อชั่วโมงลดลงจำนวนมากขึ้น โดยมีคนทำงาน 0 ชั่วโมง ซึ่งไม่ได้รายได้เกือบ 9 แสนคน และการทำโอทีก็มีสัญญาณลดลงเรื่อย ๆ โดยชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยไตรมาส 1 ลดลงกว่า 1.8%

ด้านหนี้ครัวเรือน คาดว่าไตรมาส 1 ของปีนี้จะขยายตัวสูงถึง 91% จากไตรมาส 4 ของปี 2563 อยู่ที่ระดับ 89.3% และจากนั้นจะปรับลดลงเล็กน้อย หรือทรงตัวอยู่ระดับสูงในปีนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ความต้องการสินเชื่อของประชาชนยังมีอยู่ เนื่องจากรายได้ฟื้นตัวช้า ความต้องการกู้เงินยังมีมาก โดยบางส่วนอาจจะต้องไปกู้หนี้นอกระบบ

ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 1.9% โดยเป็นการปรับลดจากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ของปีนี้ จะหดตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่ โดยคาดว่าอาจจะใช้เวลากว่า 4 เดือนในการควบคุม ซึ่งจะส่งผลให้ภาคการบริโภคเอกชนลดลงกว่า 3.1 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ คาดว่ามีแนวโน้มจะต่ำกว่า 4 แสนคน โดยเป็นการปรับลดจากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 1.5 ล้านคน ซึ่งเป็นผลมาจากประเทศส่วนใหญ่ยังระมัดระวังในการเปิดให้ประชาชนเดินทางไปต่างประเทศ เพราะกังวลโควิดสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมแผนเป็นต่อธุรกิจและแรงงาน โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ส่วนการท่องเที่ยวภายในประเทศ หลังจากการระบาดระลอกใหม่ คาดว่าจะมีอัตราการเข้าพักโรงแรม 21% ประชาชนเดินทางในประเทศทั้งปี 80.4 ล้านทริป ส่งผลให้เกิดความเสียหาย 1 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออก ซึ่งเป็นผลจากแนวโน้มการส่งออกที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วที่ได้รับวัคซีนเร็ว โดยการส่งออกของไทยที่ขยายตัวได้ดี เช่น สินค้าเกษตร และน้ำมันสำเร็จรูป จึงคาดว่าในปีนี้ การส่งออกจะขยายตัว 15% จากเดิมคาด 8.6% พร้อมกันนี้ ยังมีมาตรการความช่วยเหลือจากภาครัฐ วงเงินกว่า 2.4 แสนล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่ออกมาใหม่ ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้รัฐจะใช้เม็ดเงินบางส่วนลงสู่ระบบเศรษฐกิจราว 1 แสนล้านบาท เพื่อเป็นการพยุงเศรษฐกิจ

“ในภาพรวมจากปีที่แล้วเศรษฐกิจหดตัว -6.1% คาดปีนี้ขยายตัว 1.9% เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ อาจจะต้องรอถึงช่วงต้นปี 2566 จึงจะกลับไปเท่าระดับจีดีพีก่อนเกิดโควิดระบาดได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะต้องเร่ง คือการเร่งฉีดวัคซีน นโยบายของภาครัฐเข้ามาประคับประคองเศรษฐกิจจากเม็ดเงินการเยียวยาประชาชน แต่ระยะต่อไปต้องเข้าไปช่วยเอสเอ็มอี สนับสนุนการจ้างงาน เพราะเห็นสัญญาณการจ้างงานอ่อนแอลง และควรปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ปรับทักษะแรงงานให้เอสเอ็มอีเข้าสู่ยุคดิจิทัล”

ทั้งนี้ คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่  0.5% ตลอดปีนี้ โดยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเร็วที่สุด คือช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้มีการปรับสูงขึ้นเหมือนกับในอดีตที่ผ่านมา ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มขาดดุลครั้งแรกในรอบ 8 ปี จากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ขณะที่ดุลบริการมีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว ด้วยเหตุนี้ จึงคาดว่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าอยู่ในกรอบ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงสิ้นปีนี้