ดอลลาร์อ่อนค่า จับตามาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิดฝั่งยุโรป

ดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ดอลลาร์อ่อนค่า จับตามาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิดฝั่งยุโรป ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ ครม.อนุมัติ 4 มาตรการเยียวยาประชาชนจากผลกระทบโควิด วงเงินรวม 1.4 แสนล้านบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 1 มิถุนายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/6) ที่ระดับ 31.19/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (31/5) ที่ระดับ 31.22/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักเมื่อคืนนี้

แม้ว่าดอลลาร์สหรัฐจะมีแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะดัชนี PCE และตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานลดลง 38,000 ราย สู่ระดับ 406,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐเมื่อเดือนมีนาคม 2563

อย่างไรก็ตาม ตลาดเงินของสหรัฐได้ปิดทำการเนื่องในวัน Memorial day จึงทำให้การซื้อขายเงินตราต่างประเทศค่อนข้างเบาบาง

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนักลงทุนยังคงให้ความสนใจกับสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศ โดยวันนี้ (1/6) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) รายงานว่า ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 2,230 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 2,153 ราย และผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 77 ราย มีผู้เสียชีวิต 38 ราย

โดยล่าสุดศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ให้กรุงเทพมหานคร(กทม.)  ออกประกาศให้ใช้ประกาศของกรุงเทพมหานคร ขยายเวลาปิดกิจการและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงทั้งหมด ออกไปอีก 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ในขณะที่ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ทำการอนุมัติ 4 มาตรการเยียวยาประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอวงเงินรวม 1.4 แสนล้านบาทในวันนี้ (1/6)

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.14-31.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.13/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/6) ที่ระดับ 1.2229/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (31/5) ที่ระดับ 1.2188/90 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่ารับข่าวดี หลังจากที่นายเคลเมน บัวเน รัฐมนตรีฝ่ายกิจการยุโรปของฝรั่งเศสเปิดเผยว่า สหภาพยุโรป (EU) วางแผนที่จะออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ในวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร (9.17 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ)

โดยเบื้องต้นจะมีการระดมทุนดังกล่าวด้วยการออกพันธบัตรมูลค่า 1 หมื่นล้านยูโร ซึ่งจะมอบหมายให้ธนาคารพาณิชย์ในยุโรปและธนาคารระหว่างประเทศ รวมทั้งบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการออกพันธบัตร

และภายในสิ้นปีนี้ ยุโรปจะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 1 แสนล้านยูโร เพื่อเป็นทุนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของบรรดาชาติสมาชิก EU ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2214-1.2241 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2235/38

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/6) ที่ระดับ 109.43/44 ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (31/5) ที่ระดับ 109.69/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงเคลื่อนไหวตามเงินสกุลหลักอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในประเทศยังเจอปัญหาและผลกระทบเกี่ยวเนื่องกับการระบาดของโควิด-19

โดยกระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้ทำการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าผิดหวัง โดยตัวเลขการใช้จ่ายด้านทุนของบริษัทญี่ปุ่นในไตรมาส 1 ร่วงลง 7.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งบ่งชี้ว่าโรคโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อธุรกิจของญี่ปุ่น

นอกจากนี้ สำนักข่าวเกียวโดได้รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวในรัฐบาลว่า ญี่ปุ่นมีแผนที่จะยกระดับการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มเติม โดยจะขอให้ผู้ที่เดินทางมาจากเวียดนามและมาเลเซียกักตัวในสถานที่ที่รัฐบาลกำหนดเป็นระยะเวลา 6 วันหลังเดินทางมาถึงญี่ปุ่น

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.34-109.64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.56/58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือน พ.ค.ของอังกฤษ (1/6), ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือน พ.ค.ของประเทศฝั่งยุโรป (1/6), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือน พ.ค.ของสหรัฐ (1/6), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการบริการขั้นสุดท้ายเดือน พ.ค.ของอังกฤษ (3/6), ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI)

ภาคการบริการขั้นสุดท้ายเดือน พ.ค.ของประเทศฝั่งยุโรป (3/6), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการบริการขั้นสุดท้ายเดือน พ.ค. ของสหรัฐ (3/6), ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือน พ.ค. (3/6), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (3/6), ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (4/6), การใช้จ่ายภาคครัวเรือนเดือน เม.ย.ของญี่ปุ่น (4/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.40/+0.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.5/+0.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ