“หุ้นประกัน” ราคาวิ่งฝ่าโควิด เคลมลด-กำไร Q1 พุ่ง/ลุ้นครึ่งปีหลังบวก

หุ้น-กองทุน-แบงก์

หุ้นประกันครึ่งปีแรกพุ่งกว่า 11% ล้อผลประกอบการเด่น-เคลมลด “บล.กสิกรฯ” มองเทรนด์ครึ่งปีหลังยังน่าลงทุน เผยราคาหุ้นวิ่งรับ “เงินเฟ้อขาขึ้น-โควิดระบาด-บอนด์ยีลด์ขยับขึ้น” ค่าย “อลิอันซ์อยุธยาแคปปิตอล-กรุงเทพประกันภัย” ปลื้มกำไรไตรมาสแรกแจ่ม ด้าน “เครือไทย โฮลดิ้งส์” พลิกวิกฤตโควิดปรับแผนโฟกัสขายโปรดักต์สุขภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย (บจ.) เซ็กเตอร์ประกันภัยและประกันชีวิต (insurance) รวมทั้งสิ้น 17 บริษัท มีกำไรสุทธิรวม 3,952.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 210.06% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนโดยมีรายได้รวม 38,716 ล้านบาท ลดลง0.16%

ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (ณ 28 พ.ค. 2564) พบว่า ราคาหุ้นกลุ่มประกันปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.14% มีอัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้นที่ 15.73 เท่า ขณะที่อัตราส่วนราคาปิดต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชี (P/BV) อยู่ที่ 1.40 เท่า อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทนที่ 2.92% อัตราหมุนเวียนปริมาณการซื้อขายที่43.93% และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 205,400.94 ล้านบาท คิดเป็น 1.13% ของมาร์เก็ตแคปตลาดรวม

นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า หุ้นกลุ่มประกัน เป็นอีกหนึ่งธีมที่น่าลงทุนในระยะกลางโดยตั้งแต่เดือน ก.ค.นี้เป็นต้นไป จะเริ่มเห็นคำสั่งซื้อและคำสั่งขายมากขึ้น หลังจากช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มเห็นหุ้นประกันหลายตัวราคาวิ่งแล้ว

“ถ้าดู P/BV ของกลุ่มประกันเทียบในช่วงขาขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ที่ปรับตัวเพิ่ม 80-90 bps ตอนปี 2560-2561 จะพบว่าช่วงเวลานั้นนักลงทุนเล่นหุ้นประกันกันทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นบริษัทประกันวินาศภัย หรือบริษัทประกันชีวิต เทรดขึ้นไปอีก 2 เท่า จากระดับ 1.6 เท่า ส่วนรอบนี้คาดว่า ถ้าบอนด์ยีลด์ปรับตัวไล่ขึ้นไป และมีเซนติเมนต์กำไรดีขึ้น ในขณะที่หุ้นยัง laggard ดังนั้น คาดว่ารันเวย์ของกลุ่มประกันจะอยู่ที่ราว 15-20%”

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทยกล่าวว่า ช่วง 1-2 ปีนี้ ภาพใหญ่ของธุรกิจประกันได้ประโยชน์จากความตื่นตัวการป้องกันสุขภาพของคนไทยหลังเผชิญโควิด ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายหลักเกี่ยวกับเคลมประกัน (loss ratio) ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิดปรับตัวลดลงมาก ทั้งจากประกันสุขภาพที่คนดูแลสุขภาพตัวเองดีขึ้น ไม่ค่อยเจ็บป่วย และมีความกังวลการไปรักษาตัวโรงพยาบาล

ขณะที่ประกันรถยนต์ก็เคลมลดลง จากการทำงานที่บ้าน (WFH) ส่งผลให้การเดินทางน้อยลง และอุบัติเหตุบนท้องถนนก็ลดลงไปด้วย นอกจากนี้จากแนวโน้มบอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวสูงขึ้นจะหนุนให้พอร์ตลงทุนของธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยได้ผลตอบแทนดีขึ้นต่อเนื่อง เพราะสินทรัพย์ลงทุนส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ และยังได้ปัจจัยบวกอ่อน ๆ จากแนวโน้มเงินเฟ้อขาขึ้น

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ (TGH) กล่าวว่า ไตรมาสแรกธุรกิจประกันชีวิตของบริษัทมีค่าใช้จ่ายการรับประกันภัย เพิ่มขึ้น 587 ล้านบาท จากการตั้งเงินสำรองเพิ่มขึ้นตามเบี้ยประกันรับ โดยเฉพาะเบี้ยชำระครั้งเดียว (ซิงเกิลพรีเมี่ยม) แต่มีกำไรจากการลงทุนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ธุรกิจประกันภัยมีค่าใช้จ่ายลดลง 222 ล้านบาท จากการลดลงของค่าสินไหมทดแทน 266 ล้านบาท หลังบริหารด้านการเคลมที่ดีขึ้น

โดยช่วงที่เหลือของปี 2564 บริษัทมีแผนจะปรับผลิตภัณฑ์บุกตลาดประกันสุขภาพมากขึ้น เพราะวิกฤตโควิดทำให้คนตระหนักเรื่องสุขภาพค่อนข้างมาก โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมียอดขายประกันโควิดกว่า 7 แสนฉบับ

ขณะที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าเบี้ยประกันสุขภาพและอุบัติเหตุเติบโตสูงถึง 38% ซึ่งตั้งแต่ครึ่งหลังปีนี้ไปจนถึง 2-3 ปีข้างหน้าอุตสาหกรรมประกันชีวิตจะมีเงินก้อนใหญ่จากกรมธรรม์ครบกำหนดอยู่มาก เฉพาะของบริษัทมีประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่เป็นประกันออมทรัพย์ (saving) จึงต้องหากลยุทธ์ในการให้ลูกค้ากลุ่มนี้วางแผนการลงทุนต่อเนื่องได้ เช่น การวางแผนมรดก, การวางแผนการศึกษาบุตร เป็นต้น

“แต่ละช่องทางขายทั้งตัวแทนและธนาคารพาณิชย์ จะต้องติดต่อโทร.หาลูกค้าล่วงหน้า 2-3 เดือนก่อน เพื่อนำเสนอแผนลงทุนใหม่ ซึ่งคาดหวังว่าเงินส่วนนี้จะไหลเข้ามาในระบบประกันได้อีกประมาณ 15-30%” นายฐากรกล่าว

นายโทมัส วิลสัน กรรมการผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อลิอันซ์อยุธยา แคปปิตอล (AYUD) กล่าวว่า ไตรมาสแรกปีนี้ บริษัทมีรายได้จากการลงทุนสุทธิเพิ่มขึ้น 21.63% ในขณะที่ผลขาดทุนจากเงินลงทุนในหุ้นลดลง 99.47% เป็นผลจากการปรับโครงสร้างพอร์ตลงทุนในปีที่แล้ว ทำให้มีสินทรัพย์ที่มีความผันผวนน้อยลง และยังให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ

ขณะเดียวกัน บริษัทมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมเพิ่มขึ้นกว่า 37.38% ส่วน loss ratioลดลง 17.16% ค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยอื่นลดลง 29.90% และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 22.87%

นายอภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพประกันภัย (BKI) กล่าวว่า ในไตรมาสแรก บริษัทมีกำไรจากการรับประกันภัยสุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 34.7% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งมาจากloss ratio ที่ลดลงกว่า 7.1%