“กรุงไทย ผนึก ธ.ก.ส.” ยกระดับบริการ 5 โครงการเสริมเศรษฐกิจฐานราก

เศรษฐกิจรากหญ้า-SMEs

กรุงไทย-ธ.ก.ส.ขานรับนโยบายกระทรวงการคลัง จับมือยกระดับบริการการเงินและพัฒนาชุมชน ภายใต้โครงการ Sustainable Synergy สร้างโอกาสและความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจฐานรากผ่าน 5 โครงการ เชื่อมเครือข่าย ATM-บริการดิจิทัลคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มให้เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน-จำหน่ายสินค้าผ่านฟีเจอร์ D-Market บนแอป เป๋าตัง พร้อมใช้วายุคลาวด์แอป ธนาคารต้นไม้-กองทุนหมู่บ้า

วันที่ 2 มิถุนายน 2564 นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) โครงการ “Sustainable Synergy ประสานพลังสถาบันการเงินแห่งรัฐ พัฒนาไทยสู่ความยั่งยืน” ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงการคลัง กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

เพื่อร่วมกันพัฒนาและยกระดับบริการทางการเงินให้เข้าถึงประชาชนครอบคลุมทุกมิติ พร้อมเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้มีช่องทางจำหน่ายสินค้าที่หลากหลาย และการพัฒนาระบบโปรแกรมการบริหารงานขององค์กรชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ประกอบด้วย 5 โครงการ ได้แก่

1) การให้บริการเครือข่ายเครื่อง ATM ร่วมกัน (White-Label ATM) ให้ลูกค้าบัตร Debit และบัตร ATM ทั้ง 2 ธนาคาร สามารถทำธุรกรรมถอนเงิน และสอบถามยอดเงินคงเหลือ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมการทำรายการต่างธนาคาร เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 นอกจากช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมการเงินแล้ว ยังช่วยให้ลูกค้าทั้ง 2 ธนาคาร เข้าถึงการทำธุรกรรมผ่านเครื่อง ATM ได้สะดวกและครอบคลุมมากขึ้น ด้วยจำนวนเครื่อง ATM รวมกันกว่า 12,000 เครื่องทั่วประเทศ

2) เปิดให้ผู้ถือบัตร ATM และบัตร Debit ของ ธ.ก.ส. ครอบคลุมไปถึงบัตรอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) บัตรอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) และบัตรสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สามารถซื้อสินค้าและบริการโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมผ่านเครื่อง EDC ของธนาคารกรุงไทย กว่า 76,000 เครื่องทั่วประเทศ ในร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านค้าทั่วไป และผ่านแอปพลิเคชั่นที่ร้านค้าถุงเงิน รวมทั้งสามารถถอนเงินสดจากเครื่อง EDC กับตัวแทนธนาคาร (Banking Agent) ได้

3) บริการดิจิทัลคอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม สนับสนุนให้เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน นำสินค้ามาจำหน่ายด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจและแตกต่างผ่านฟีเจอร์ D-Market ซึ่งเป็นดิจิทัลคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มของคนไทย บนแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง ซึ่งมีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ จากจำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่นเป๋าตังกว่า 30 ล้านคน ช่วยให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน หนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ตามแนวคิด “ไทยดี ไทยใช้ ไทยยั่งยืน”

ADVERTISMENT

4) การเชื่อมโยงบัญชี e-Wallet สำหรับลูกค้า ธ.ก.ส. เพื่อใช้ชำระสินค้าและบริการผ่านแอป เป๋าตัง ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงร้านค้า ตามนโยบายภาครัฐ และเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ

5) บริการวายุคลาวด์ เป็นบริการคลาวด์สาธารณะภายในประเทศที่บริษัท กรุงไทยคอมพิวเตอร์เซอร์วิสเซส จำกัด (KTBCS) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือธนาคารกรุงไทยพัฒนาขึ้นเป็น Open Source Software ที่มีเสถียรภาพ ทันสมัย รองรับความต้องการใช้งานของประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง ธ.ก.ส.ได้เล็งเห็นศักยภาพ จึงนำร่องใช้วายุคลาวด์กับแอปพลิเคชั่นธนาคารต้นไม้ และกองทุนหมู่บ้าน

ADVERTISMENT

ด้านนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการผนึกกำลังของสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง โดยนำจุดแข็งของแต่ละแห่งมาสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อยกระดับการบริการ ทำให้ลูกค้าทั้ง 2 ธนาคาร ที่ถือบัตร ATM และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถใช้บริการตู้ ATM ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมการทำรายการต่างธนาคาร

รวมถึงอำนวยความสะดวกให้ผู้ถือบัตร Debit ของ ธ.ก.ส. บัตรอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) บัตรอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) และบัตรสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จำนวนกว่า 2 ล้านใบ ได้รับประโยชน์จากการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมผ่านเครื่อง EDC ของธนาคารกรุงไทย และผู้ถือบัตร Debit ของ ธ.ก.ส. ยังสามารถถอนเงินสดผ่านเครื่อง EDC กับตัวแทนธนาคาร (Banking Agent) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านการใช้บริการทางการเงินให้กับลูกค้า

ด้านการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนให้เกษตรกร สถาบันเกษตร และผู้ประกอบการ SMEs เกษตร นำสินค้าคุณภาพดีจากชุมชนมาจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม Social Commerce เช่น ข้าวสารหอมมะลิ ตรา A-Rice ของสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. สุรินทร์ จำกัด (สกต.) ที่มีนวัตกรรมการกำจัดมอดโดยใช้คลื่นวิทยุ ทำให้ผู้บริโภคได้รับอาหารที่ปลอดภัยและข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองที่ได้รับ GI

เช่น ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ ข้าวก่ำ และข้าวฮางงอก เป็นต้น ผลิตภัณฑ์กระเป๋าแปรรูปจากต้นกล้วย แบรนด์ “ตานี” จังหวัดราชบุรี น้ำช่อดอกมะพร้าว 100% แบรนด์ “Hayoung have a health” จังหวัดสมุทรสาคร น้ำทับทิมจากไร่จรัสแสง จังหวัดนครราชสีมา กาแฟคั่วบด แบรนด์ “ก้องวัลเล่ย์ จังหวัดระนอง แคบหมูป๊อป แบรนด์ “ศิราณี” จังหวัดเชียงราย เม็ดมะม่วงหิมพานต์ จาก สกต. ศรีสะเกษ จำกัด และผลไม้ตามฤดูกาลจากกลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ เป็นต้น

ซึ่งนอกจากทำให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าคุณภาพจากเกษตรกรผู้ผลิตโดยตรงแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน การเชื่อมโยงบัญชี e-Wallet เพื่อให้ลูกค้า ธ.ก.ส.สามารถชำระสินค้าและบริการผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงร้านค้าได้ ตามนโยบายรัฐบาลและเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ

ในส่วนของวายุคลาวด์ ธ.ก.ส.จะนำมาพัฒนาแอปพลิเคชัjนโครงการสำคัญ ๆ เพื่อต่อยอดด้านการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อชุมชนมากขึ้น เช่น โครงการธนาคารต้นไม้ที่ ธ.ก.ส.ได้เข้าไปสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อปลูกต้นไม้ มีการประเมินมูลค่าต้นไม้เพื่อใช้เป็นทรัพย์สิน การสนับสนุนให้ชุมชนเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างรายได้จากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตและมีเป้าหมายในการจัดทำระบบ GPS ที่สามารถระบุตำแหน่งของต้นไม้ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบ

โดยปัจจุบันมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้ จำนวน 6,838 ชุมชน มีจำนวนต้นไม้ที่ปลูกเพิ่มแล้วกว่า 12.3 ล้านต้น การสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านและกลุ่มการเงินในชนบทที่ ธ.ก.ส.ดูแลกว่า 28,000 แห่ง ให้มีระบบการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือ เช่น การจัดทำโปรแกรมช่วยปฏิบัติงานด้านสินเชื่อ เงินฝาก และระบบบัญชี เพื่อให้องค์กรการเงินชุมชน มีการยกระดับไปสู่การเป็นสถาบันการเงินประชาชนที่มีประสิทธิภาพ ช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของคนในชนบท และช่วยแก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบ อันเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ นายธนารัตน์กล่าว