6 แบงก์ผนึกอุ้ม SMEs ปล่อยกู้ “คู่ค้า” กลุ่มห้างดันทุกเซ็กเตอร์ รักษาจ้างงาน

สถาบันการเงินชั้นนำของไทย ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารออมสิน ได้ประกาศความร่วมมือสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ ร้านค้า ซัพพลายเออร์ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 6,000 ราย ที่เป็น “คู่ค้า” ของ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ผ่านมาตรการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ”

โดย “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มองไปข้างหน้าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจใช้เวลา จึงต้องเร่งแก้ปัญหาเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีกลไกการทำงานร่วมกัน ดังนี้

1.ภาครัฐและ ธปท.จะช่วยลดความเสี่ยงของ SMEs และเพิ่มความเข้มข้นในการช่วยเหลือ โดยใช้กลไกบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) 2.สถาบันการเงินจะช่วยเชื่อมต่อผู้ประกอบการรายใหญ่

ปรับแนวทางช่วยเหลือ SMEs และรายย่อย 3.ผู้ประกอบการรายใหญ่จะประสานข้อมูลของรายย่อย เพื่อให้สถาบันการเงินประเมินความเสี่ยงได้มากขึ้น และ 4.SMEs เองจะต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด

และยกระดับการบริหารจัดการบัญชี โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อลดต้นทุน และสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันการเงิน

“ความร่วมมือนี้จะช่วยลดข้อจำกัดเรื่องของความเสี่ยงของ SMEs ขณะที่ผู้ประกอบการที่มีคู่ค้าจะแข็งแรงขึ้น สถาบันการเงินก็จะมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อ สามารถขยายฐานลูกค้ามากขึ้น ส่วนภาครัฐก็สามารถยื่นมือช่วยผู้ที่ต้องการช่วยได้ ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ขยายผลโครงการนี้” ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

ขณะที่ “นายผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทยกล่าวว่า ธุรกิจค้าปลีกมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เม็ดเงินจำนวนมากหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ มีผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทยเกี่ยวข้องถึง 2.5 ล้านราย หรือประมาณ 81% ของผู้ประกอบการ SMEs ทั้งประเทศ และเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการจ้างงานมากที่สุดถึง 9 ล้านคน คือเป็น 77% ของการจ้างงานในภาค SMEs หรือมากถึง 54% ของการจ้างงานทั้งหมด

“โครงการประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าที่เป็นคู่ค้า และพันธมิตรของเดอะมอลล์ กรุ๊ปกว่า 6,000 ราย ให้มีสภาพคล่องทางการเงิน ประคองธุรกิจ รักษาการจ้างงานให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้” นายผยงกล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทยมี 2 มาตรการสนับสนุนประกอบด้วย 1.“สินเชื่อฟื้นฟู” เพื่อเสริมสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปีในช่วง 2 ปีแรก ผ่อนชําระสูงสุดไม่เกิน 10 ปี และ 2.สินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียนสำหรับคู่ค้าของเดอะมอลล์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นวงเงินกู้เบิกเกินบัญชีโดยให้วงเงินตามธุรกรรมการค้า กู้ได้สูงสุด 20 ล้านบาท สามารถใช้ บสย.ได้

ขณะที่แบงก์อื่น ๆ อีก 5 แบงก์ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา รวมถึงธนาคารออมสิน ต่างล้วนมีมาตรการสินเชื่อภายใต้ความร่วมมือนี้เช่นเดียวกัน

ขณะที่ก่อนหน้านี้ทางด้าน “บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น” ก็ได้จับมือกับธนาคารกสิกรไทย จัดทำโครงการแซนด์บอกซ์ นำฐานข้อมูลการทำธุรกิจของคู่ค้า

และซัพพลายเออร์เบื้องต้นกว่า 4,000 รายของ “เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล” มาใช้ประกอบการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารกสิกรไทยผ่าน digital factoring platform และได้อนุมัติสินเชื่อกลุ่มแรกให้กับ SMEs จำนวน 1,000 ราย ซึ่งกว่า 70% ของซัพพลายเออร์ยังไม่เคยเข้าถึงซอฟต์โลนมาก่อน

พร้อมกันนี้ ธนาคารกสิกรไทยยังสนับสนุน “สินเชื่อเพื่อคู่ค้า CRC” วงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับคู่ค้าของ “เซ็นทรัล รีเทลฯ” ทั้งคู่ค้าที่เป็นลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ของธนาคารอีกด้วย โดยจะให้การช่วยเหลือ 2 รูปแบบ คือ สินเชื่อฟื้นฟู และ 2.สินเชื่อไม่มีหลักประกัน สำหรับลูกค้าที่ไม่เข้าเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟู

จากภาพทั้งหมดนี้ น่าจะช่วยประคองผู้ประกอบการ SMEs ให้อยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤตนี้โควิด-19 ที่ทำท่าจะยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คิด และ หากสามารถขยายความร่วมมือนี้ไปยังเซ็กเตอร์อุตสาหกรรมอื่น ๆ เพิ่มเติมได้อีก ก็จะช่วย SMEs ได้เพิ่ม และที่สำคัญ จะช่วยรักษาการจ้างงานได้อีกมากด้วยเช่นกัน