ธปท.ดึง “แบงก์-น็อนแบงก์” 12 แห่ง ไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อรถ

เช่าซื้อรถยนต์
(File Photo by Mladen ANTONOV / AFP)

12 สถาบันการเงินเข้าร่วม “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อ” 1 มิ.ย.-31 ก.ค.นี้ ธปท.ตั้งเป้าช่วยลูกหนี้ได้อีกกว่าแสนรายเน้นชะลอยึดรถ-คำนวณดอกเบี้ยบนค่างวดอุ้มลูกหนี้

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า โครงการไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลก่อนหน้านี้ พบว่ามีลูกหนี้เข้ามาจำนวน 6 แสนบัญชี (ราย) และมีลูกหนี้ได้รับการช่วยเหลือแล้ว 1.5 แสนบัญชี (ราย) มูลหนี้เฉลี่ยราว 5.8 หมื่นบาท คิดเป็นมูลหนี้ทั้งสิ้น 8,600 ล้านบาท และในช่วงวันที่ 1 มิ.ย.-31 ก.ค. 2564 นี้

ธปท.ได้ร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) หรือบริษัทลูกของแบงก์ภายใต้การกำกับดูแลรวม 12 แห่ง จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อออนไลน์ขึ้น

“สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ได้กระทบความสามารถการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลง โดยเฉพาะหนี้สินเชื่อเช่าซื้อที่มีปริมาณสูงเป็นอันดับที่ 3 ของสินเชื่อรายย่อยทั้งหมด หรือมีมูลค่า 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นจำนวน 6.6 ล้านบัญชี ดังนั้น ธปท.จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อขึ้นมา”

โดยเกณฑ์คุณสมบัติของลูกหนี้ที่จะเข้าโครงการไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่ไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือเป็นเอ็นพีแอลแล้วแต่ยังไม่โดนยึดรถ แต่ได้รับความเดือดร้อน จะใช้มาตรการยืดอายุการชำระหนี้ หรือสอดคล้องกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 หรือขอพักหนี้เป็นระยะเวลา 3 เดือน และ 2.โดนยึดรถแต่ยังไม่ถูกขายทอดตลาด

ซึ่งมาตรการจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ และชะลอการขายทอดตลาดเพื่อนำรถไปใช้ในการประกอบอาชีพ เพื่อนำรายได้มาส่งค่างวดให้กับเจ้าหนี้

และ 3.กลุ่มโดนยึดรถและถูกขายทอดตลาดแล้วและยังมีหนี้ส่วนขาด กลุ่มนี้จะมีแนวทางการช่วยเหลือในเรื่องการคำนวณยอดหนี้คงค้างที่เหลือ (ติ่งหนี้) คือ ราคาขายทอดตลาดต่ำกว่ามูลหนี้

โดย ธปท.ได้หารือกับ สคบ.ในเรื่องการคำนวณติ่งหนี้ โดยใช้การคำนวณจากคำพิพากษาของสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นการคำนวณติ่งหนี้ที่อิงกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากที่ผ่านมามีการคำนวณติ่งหนี้สูงกว่ามูลค่าค่างวด โดย ธปท.จะมีการกำหนดการคำนวณติ่งหนี้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่นเดียวกับการคำนวณอัตราดอกเบี้ยในช่วงพักหนี้ โดยให้คำนวณดอกเบี้ยบนค่างวด หรือค่างวดบวกอัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอก (flat rate) เท่านั้น

“เป้าหมายการไกล่เกลี่ยหนี้ ธปท.คาดหวังจะมีลูกหนี้เช่าซื้อเข้ามาจำนวน 1 แสนบัญชี คิดเป็นยอดหนี้เฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 3.8 แสนบาท หรือคิดเป็นมูลค่า 3.8 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี คาดว่าลูกหนี้ที่เข้ามา 1 แสนบัญชีที่เข้าโครงการไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อ ประมาณ 50% หรือราว5 หมื่นบัญชีจะเป็นลูกหนี้กลุ่มที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอลและยังไม่โดนยึดและอีก 2.5 หมื่นบัญชีจะเป็นกลุ่มที่โดนยึดรถแต่ยังไม่ขายทอดตลาด และที่เหลืออีก2.5 หมื่นบัญชีจะเป็นกลุ่มที่โดนยึดรถและขายทอดตลาดแล้ว แม้ว่าจะมีผู้ประกอบการเช่าซื้อภายใต้กำกับเข้าร่วมเพียง 12 แห่ง


แต่มีมาร์เก็ตแชร์ถึง 65% และที่เหลือที่ไม่เข้าร่วม ธปท.ได้มีการพูดคุยภายใต้สมาคมเช่าซื้อ พบว่าบางแห่งได้มีมาตรการช่วยเหลือของตัวเองอยู่แล้ว หรือดำเนินการช่วยเหลือภายใต้มาตรการช่วยเหลือระยะที่ 3 รวมถึงบางแห่งอาจไม่เข้าร่วม แต่จะนำแนวทางนี้ไปช่วยเหลือลูกค้าก็ได้”