พ.ร.ก.กู้เงินช่วยโควิด ทั้ง 2 ครั้ง นำเงินไปใช้อะไรบ้าง ?

ประยุทธ์ กู้เงิน

ในวันที่ 9 มิถุนายน 2564 สภาจะมีการพิจารณา อนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงินช่วยโควิด-19 ฉบับที่ 2 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งถูกจับตาเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะที่ทำให้ นายกรัฐมนตรี ถูกมองว่า ก่อหนี้มหาศาล 

วันที่ 3 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (2 มิ.ย.) นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อยู่มา 7 ปี กำลังจะเข้าปีที่ 8 ทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องเกิน 4.18 ล้านล้านบาท มีหนี้สาธารณะ 8.47 ล้านล้านบาท เงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบ 8 ปี 4 เดือน

ขณะที่วัตถุดิบทางอาหารถูกควบคุมโดยกลุ่มทุน ทำให้ค่าครองชีพของคนไทยไม่อาจควบคุมได้ นอกจากนี้ ยังทำสถิติสูงสุดในรอบ 18 ปีของหนี้ครัวเรือน สูงถึง 91%

นายมิ่งขวัญยังกล่าวด้วยว่า สำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แม้เศรษฐกิจโลกดี ไม่มีโควิด ก็หาเงินไม่เก่ง ตอนนี้เจอโควิดเลยหาไม่ได้ ซ้ำยังจ่ายเงินเกินตัว ก่อให้เกิดหนี้มหาศาล เศรษฐกิจพังแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว

“พล.อ.ประยุทธ์ อยู่มา 8 ปีงบประมาณ ได้พิสูจน์แล้วว่า ง่ายที่สุดคือการลาออก จึงขอกราบเรียนให้ท่านนายกฯลาออก จบอย่างสวยงาม ให้เขาจดจำท่าน ๆ ดี ท่านเอาประเทศนี้ไม่รอดแน่นอน เพราะสถานการณ์ดี ๆ ก็ยังเอาไม่รอดเลย” นายมิ่งขวัญกล่าว ก่อนทิ้งท้ายว่า นี่เป็นเพียง EP1 สัปดาห์หน้าเราจะพบกันใหม่ ในการพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ รับประทานยาความดันให้ดี แล้วมาฟัง

ก่อนที่สัปดาห์หน้าจะมาถึง “ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทบทวนแผนการใช้จ่ายงบประมาณ จากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563  หรือ พ.ร.ก.กู้เงินช่วยโควิด-19 ฉบับที่  1 วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท และอีก 9 แสนล้านบาท เข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2563

รวมถึง พ.ร.ก.กู้เงินช่วยโควิด-19 ฉบับที่  2 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564

พ.ร.ก.กู้เงินช่วยโควิด-19 ฉบับที่  1

  • แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท ได้อนุมัติไปแล้ว 3 ครั้ง จำนวน 25,825 ล้านบาท คงเหลือ 19,174 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างอนุมัติโครงการ
  • แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ วงเงิน 555,000 ล้านบาท ได้รับโอนวงเงินกู้จากแผนงานกลุ่มที่ 3 เพิ่มเติม ทำให้มีวงเงินเพิ่มขึ้นเป็น 6.85 แสนล้านบาท อนุมัติแล้ว 6.68 แสนล้านบาท คงเหลือ 144,846 ล้านบาท
  • แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท คงเหลือ 2.7 แสนล้านบาท (โยกไปให้กลุ่มที่ 2) อนุมัติไปแล้ว 125,000 ล้านบาท

พ.ร.ก.กู้เงินช่วยโควิด-19 ฉบับที่  2

  • แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข วงเงิน 30,000 ล้านบาท
  • แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ วงเงิน 300,000 ล้านบาท
  • แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 170,000 ล้านบาท

ความแตกต่างของ พ.ร.ก.กู้เงินช่วยโควิด 2 ฉบับ

สิ่งที่เพิ่มจาก พ.ร.ก.กู้เงินฉบับแรก คือการเพิ่มแผนค่าใช้จ่ายของวัคซีน และการวิจัย พัฒนาและการผลิตวัคซีนภายในประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงสถานพยาบาลสำหรับการบำบัดรักษาผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

นอกจากนั้น พ.ร.ก.ช่วยโควิด ฉบับ 2 ยังทุ่มให้กับแผนการช่วยเหลือเยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนผ่านโครงการรัฐต่าง ๆ เช่น เราชนะ คนละครึ่ง หรือ ยิ่งใช้ยิ่งได้ โครงการน้องใหม่ล่าสุด ด้วยวงเงิน 300,000 ล้านบาท แต่ยังน้อยกว่าแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ของฉบับแรก ซึ่งตั้งวงเงิน 555,000 ล้านบาท