ธปท.เปิดผลสำรวจโรงแรมอ่วมพิษโควิดรุนแรง ส่อปิดกิจการชั่วคราวมากขึ้น

ธปท.เปิดผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรมเดือน พ.ค. ชี้โรงแรมอ่วมพิษโควิดระบาดรุนแรง ส่อปิดกิจการชั่วคราวมากขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกปรับลดลงต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม (Hotel business operator Sentiment Index : HSI) เดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งจัดทำโดยสมาคมโรงแรมไทย พบว่า ผู้ประกอบการที่พักแรมได้รับผลกระทบมากขึ้นจากเดือนก่อน และคาดว่าผลกระทบจะต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมิถุนายน เนื่องจากสถานการณ์ของ COVID-19 ที่รุนแรงขึ้น โดยอัตราการเข้าพักอยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้มีการตัดสินใจปิดกิจการชั่วคราวมากขึ้น

โดยในเดือนพฤษภาคม 2564 ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวมทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ซึ่งถูกกดดันจากกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ และผลของการแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกเดือนเมษายนที่ขยายวงกว้าง โดยเฉพาะภาคที่มิใช่การผลิตที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคต่อเนื่องจากเดือนก่อน ขณะที่ภาคก่อสร้างเริ่มได้รับผลจากการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ในแคมป์คนงาน อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตยังสามารถฟื้นตัวได้ตามคำสั่งซื้อที่ทยอยกลับมา

ทั้งนี้ แต่ละธุรกิจมีมุมมองต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกเดือนเมษายนแตกต่างกัน โดยภาคท่องเที่ยวคาดว่าจะถูกกระทบมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคการค้า ขณะที่ภาคการผลิตได้รับผลกระทบน้อยที่สุด สอดคล้องกับการปรับตัวที่ทำได้มากกว่าธุรกิจอื่น

สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ในไทยที่มีแนวโน้มกลับมารุนแรงขึ้น ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่มีการใช้นโยบายสลับกันมาทำงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ขณะที่ธุรกิจในภาคที่มิใช่การผลิตมีการใช้นโยบายอื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ ลดชั่วโมงทำงาน และ Leave without Pay รวมถึงปลดคนงานเพิ่มในบางธุรกิจ

ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกปรับลดลงต่อเนื่อง ตามการแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกเดือนเมษายนที่รุนแรงขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังเชื่อมั่นว่าสถานการณ์จะปรับดีขึ้นในอีก 3 เดือน จากผลของการเร่งกระจายวัคซีน

สำหรับประเด็นพิเศษในเดือนดังกล่าว ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคแย่ลงจากเดือนก่อนค่อนข้างมาก จากการระบาดที่รุนแรงและยืดเยื้อที่ส่งผลต่อทั้งรายได้ และความกังวลของผู้บริโภค รวมถึงมาตรการสาธารณสุขที่เข้มงวดในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ 41% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ได้ปรับลดการจ้างงานลงและมีแนวโน้มที่รายได้ลดลงตามชั่วโมงการทำงานและค่าธรรมเนียมขายลดลง และ 39% ของผู้ตอบแบบสำรวจมีสภาพคล่องไม่เกิน 6 เดือน

ส่วนผู้ประกอบการที่พักแรมได้รับผลกระทบมากขึ้นจากเดือนก่อน และคาดว่าผลกระทบจะต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมิถุนายน เนื่องจากสถานการณ์ของ COVID-19 ที่รุนแรงขึ้น โดยอัตราการเข้าพักอยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้มีการตัดสินใจปิดกิจการชั่วคราวมากขึ้น