ดอลลาร์แข็งค่า หลังเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจดีเกินคาด

ดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ดอลลาร์แข็งค่าหลังเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจดีเกินคาด ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ ตลาดจับตาดูความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเดือนมิถุนายนนี้ ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 31.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม-4 มิถุนายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (31/5) ที่ระดับ 31.27/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (28/5) ที่ระดับ 31.25/26

ค่าเงินดอลลาร์ในช่วงต้นสัปดาห์ทรงตัว แม้ว่าในวันศุกร์ที่ผ่านมา (28/5) จะมีการเปิดเผยดัชนี PCE ที่พุ่งขึ้น 3.1% ในเดือนเมษายน ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.9% และจากระดับ 1.9% ในเดือนมีนาคม

นอกจากนี้ ทางคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เปิดเผยแผนงบประมาณรายจ่ายสำหรับปีงบประมาณ 2565 ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคมปีนี้ที่ระดับ 6 ล้านล้านดอลลาร์ โดยรับเป็นระดับงบประมาณรายจ่ายสูงที่สุดของสหรัฐนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยจะประกอบด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะเข้าลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งช่วยเหลือภาคครัวเรือนสหรัฐเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ในวันพุธ (2/6) ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ได้แก่ การจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐ ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 978,000 ตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 680,000 ตำแหน่ง และเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563

ขณะที่ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 385,000 รายในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุดวันที่ 29 พฤษภาคม โดยเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2563 และต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 390,000 ราย

และไอเอชเอส มาร์กิตเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับ 70.4 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2552 โดยสูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 70.1 และเพิ่มขึ้นจากระดับ 64.7 ในเดือนเมษายน

ขณะเดียวกันสถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) เปิดเผยดัชนีภาคบริการสหรัฐเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 64.0 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยสูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 63.0 และเพิ่มขึ้นจากระดับ 62.7 ในเดือนเมษายน ทั้งนี้ นักลงทุนจะจับตาดูการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันศุกร์นี้ (4/6)

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ตลาดจับตาดูความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเดือนมิถุนายนนี้ หากทำได้ตามเป้าจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น พร้อมกันนี้ ตลาดยังจับตาการเคลื่อนไหวของเงินทุนในระยะสั้นหลังจากที่นักลงทุนต่างชาติได้เริ่มกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยในระยะนี้

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.44% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่เป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากผลของการสูงขึ้นของราคาพลังงานและอาหารสดบางชนิด ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 5 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) เพิ่มขึ้น 0.83%

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.49% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 0.23% โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.12-31.28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (4/6) ที่ระดับ 31.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (31/5) ที่ระดับ 1.2193/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/5) ที่ระดับ 1.2197/1.2200 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรในช่วงต้นสัปดาห์เคลื่อนไหวในกรอบแคบจากการซื้อขายในตลาดที่เป็นไปอย่างซบเซา หลังจากที่ตลาดหุ้นอังกฤษและสหรัฐปิดทำการเนื่องในวันหยุด

นอกจากนี้ ค่าเงินยูโรยังได้รับแรงกดดันหลังมีรายงานว่า ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดประกาศเตือนดอยช์แบงก์ว่าธนาคารยังไม่สามารถปรับปรุงการกำกับดูแลด้านการป้องกันการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากเพียงพอ จึงทำให้ตลาดหุ้นยุโรปเปิดตลาดปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ดีค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นภายหลังการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.4% และเทียบเป็นรายเดือนตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนพฤษภาคม สูงกว่าระดับคาดการณ์ที่ 0.3%

ขณะที่นายเคลเมน บัวเน รัฐมนตรีฝ่ายกิจการยุโรปของฝรั่งเศสเผยว่า สหภาพยุโรปวางแผนที่จะออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 ในวงเงิน 7.50 แสนล้านยูโร โดยในเบื้องต้นจะมีการระดมทุนดังกล่าวด้วยการออกพันธบัตรมูลค่า 1 หมื่นล้านยูโร โดยจะมอบหมายให้ธนาคารพาณิชย์ยุโรปและธนาคารระหว่างประเทศรวมทั้งบริษัทหลักทรัพย์ เป็นผู้ดำเนินการออกพันธบัตรในเดือนมิถุนายน

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจ ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนพฤษภาคม ทะยานขึ้นสู่ระดับ 63.1 จากระดับ 62.9 ของเดือนเมษายน ซึ่งดีกว่าตัวเลขคาดการณ์เบื้องต้นก่อนหน้านี้ที่ระดับ 62.8 และเป็นตัวเลขสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการรายงานมา นับตั้งแต่ที่มาร์กิตเริ่มจัดทำดัชนีเมื่อเดือนมิถุนายน 2540

นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการขั้นสุดท้ายของยูโรโซน พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปีที่ 55.2 ในเดือนพฤษภาคม จาก 50.5 ในเดือนเมษายน และสูงกว่าตัวเลขขั้นต้นที่ระดับ 55.1 ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.2102-1.2254 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (4/6) ที่ระดับ 1.2114/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (31/5) ที่ระดับ 109.43/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับปิดตลาดวันศุกร์ (28/5) ที่ 109.68/71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงหลังจากเมื่อวันศุกร์ (28/5) รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศขยายภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อไปจนถึงวันที่ 20 มิถุนายน จากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 31 พฤษภาคม โดยจะครอบคลุมพื้นที่ใน 9 จังหวัด

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่เปิดเผยวันศุกร์ (4/6) กระทรวงฝ่ายกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่นเปิดเผยการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 13% ในเดือนเมษายน เป็นการขยายตัวแข็งแกร่งสุดเป็นประวัติการณ์ และเป็นการปรับตัวขึ้นหลังจากที่ทรุดตัวลงอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.31-110.33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (4/6) ที่ระดับ 110.16/18 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ