เกาะติดประชุมอีซีบี-จ้างงานสหรัฐฯ หนุนบาทอ่อนค่า 31.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ

แฟ้มภาพ

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทเคลื่อนไหว 31.10-31.45 บาทต่อดอลลาร์ เกาะติดการประชุมอีซีบี-ตัวเลขจ้างงานสหรัฐฯ ปัจจัยชี้นำตลาดการเงินโลก ส่งผลเงินบาทขยับอ่อนค่า

วันที่ 6 มิถุนายน 2564 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 7-11 มิถุนายน 64) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.10-31.40 บาทต่อดอลลาร์ โดยเคลื่อนไหวกรอบแคบ ซึ่งปัจจัยที่ต้องติดตามจะเป็นการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อดูมุมมองต่อทิศทางเศรษฐกิจและการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) รวมถึงติดตามตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ของยุโรป

ขณะที่สหรัฐฯ ยังคงต้องติดตามตัวเลขเงินเฟ้อ มองว่า แม้ว่ามีการเร่งตัวในเดือนก่อนหน้า (เดือนเมษายน) จนทำให้นักลงทุนตกใจ แต่เชื่อว่าตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมยังคงอยู่ในระดับสูง แต่คงไม่เร่งตัวเท่าเดือนก่อน จึงไม่น่ามีผลกับตลาดมาก แต่ยังคงมีผลไปยังเรื่องของมาตรการ QE ที่จะทำให้ดอลลาร์ไม่อ่อนค่ามาก

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในช่วงสำหรับที่ผ่านมา พบว่า มีกระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นสุทธิ 5,192 ล้านบาท และไหลเข้าซื้อบอนด์สุทธิ 9,200 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าในบางจังหวะ

“ปัจจัยในประเทศคงต้องติดตามเรื่องการกระจายวัคซีนเป็นไปตามแผนหรือไม่ แต่ปัจจัยที่โฟกัสหลักน่าจะประชุม ECB หากดีจะช่วยซัพพอร์ตดอลลาร์ไม่อ่อนค่าไปมาก หรือกลับมาแข็งค่าได้”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางเงินบาทสัปดาห์หน้าจะอยู่ในกรอบ 31.10-31.45 โดยติดตามประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน พ.ค. ของสหรัฐฯ ผลต่อบอนด์ยิลด์ซึ่งจะกระทบค่าเงินดอลลาร์

ทั้งนี้ ในคืนนี้ (4 มิ.ย.) ข้อมูลจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน พ.ค. ของสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยชี้นำสำคัญสำหรับตลาดการเงินโลก เพราะจะส่งผลต่อการคาดการณ์ของนักลงทุนที่มีต่อจังหวะเวลาที่เฟดจะเริ่มถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยตลาดคาดไว้ว่า non-farm payrolls จะเพิ่มขึ้น ราว 7 แสนตำแหน่ง หากตัวเลขสดใสกว่าคาดอย่างมีนัยสำคัญ จะส่งผลเงินบาทจะอ่อนค่าได้

“ปัจจัยภายในยังอยู่ที่การจัดหาและกระจายวัคซีนซึ่งมีแนวโน้มดีขึ้นบ้าง”