ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรต่ำกว่าคาด

ภาพประกอบข่าว เงิน-ดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรต่ำกว่าที่คาดการณ์ ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ กระทรวงท่องเที่ยวฯเตรียมแนวทางการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในประเทศ หลังการฉีดวัคซีนเป็นไปตามแผน ทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 3 และทัวร์เที่ยวไทย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/6) ที่ระดับ 31.18/19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่า จากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/6) ที่ระดับ 31.27/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเทียบเงินสกุลหลักในช่วงเช้านี้ หลังจากวันศุกร์ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐประจำเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 559,000 ตำแหน่ง ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นที่ระดับ 671,000 ตำแหน่ง อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้เปิดเผยตัวเลขคำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐประจำเดือนเมษายนลดลง 0.6% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าจะลดลงที่ระดับ 0.2%

นอกจากนี้นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐเปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เสนอโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน นั้น เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งครอบคลุมถึงการสร้างงานและช่วยเหลือครัวเรือนในสหรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐให้ฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

โดยที่ผ่านมาสหรัฐได้ต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเกินไปมาเป็นเวลานาน หากสหรัฐสร้างสภาพแวดล้อมที่อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นเล็กน้อย ก็อาจจะเป็นผลดีต่อมุมมองของสังคมและมุมมองของเฟด

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯกำลังพิจารณาแนวทางการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในประเทศ หลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ค่อย ๆ คลี่คลายลง และมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเป็นส่วนใหญ่แล้ว โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยว

เบื้องต้นถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนในเดือนสิงหาคมนี้ จะเริ่มต้นโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 3 และทัวร์เที่ยวไทย ซึ่งทั้ง 2 โครงการได้กำหนดจำนวนคนร่วมโครงการเอาไว้ประมาณ 3 ล้านคน

ทั้งนี้ตลาดยังคงจับตาดูตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนในประเทศอย่างใกล้ชิด โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.13-31.22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.19/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (7/6) ที่ระดับ 1.2162/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/6) ที่ระดับ 1.2115/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้สถาบัน Sentix ได้ออกมาเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของสหภาพยุโรปที่ระดับ 28.1 ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 25.5

นอกจากนี้สถาบัน Destatis ได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานแห่งเยอรมันประจำเดือนเมษายนที่ระดับ -0.2% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 0.4% โดยนักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟดและธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในสัปดาห์หน้า เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้เกี่ยวกับการปรับลดการซื้อพันธบัตร

ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางทั้งสองแห่งดังกล่าวจะตรึงนโยบายการเงินไม่เปลี่ยนแปลงโดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2143-1.2172 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.259/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/6) ที่ระดับ 109.59/61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/6) ที่ระดับ 110.11/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีแห่งญี่ปุ่นได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขตัวชี้วัดนำของญี่ปุ่นที่ระดับ 103.0% ซึ่งเทียบเท่ากับที่คาดการณ์ ณ ระดับ 103.0%

นอกจากนี้ตลาดจับตาสถานการณ์การควบคุมแพร่ระบาดโควิด-19 ในญี่ปุ่นก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่จะเริ่มต้นขึ้นในอีก 50 วัน

โดยนายยาซูฮิโร ยามาชิตะ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกของญี่ปุ่นได้เปิดเผยถึงแผนการดังกล่าวว่า นักกีฬาชาวญี่ปุ่นราว 95% ที่จะเข้าแข่งขันโอลิมปิกในปีนี้เตรียมเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยระบุว่าแพทย์จะทำการฉีดวัคซีนจำนวน 2 โดสให้กับนักกีฬา 600 คน รวมถึงโค้ชและทีมงาน 1,000 คน ภายในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้

โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.33-109.63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.43/46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานสินเชื่อผู้บริโภคของสหรัฐ (8/6), ตัวเลขจีดีพีไตรมาสต่อไตรมาสของญี่ปุ่น (8/6), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนี (8/6), ตำแหน่งว่างงานเปิดใหม่จาก JOLTs ของสหรัฐ (8/6), ยอดขายการค้าส่งของสหรัฐ (9/6), ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของสหรัฐ (20/6), จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (10/6) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของรัฐมิชิแกนของสหรัฐ (11/6)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.25/0.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.70/1.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ