ค่าเงินบาททรงตัว นักลงทุนจับตาข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐ

เงินบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 8 มิถุนายน 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/6) ที่ระดับ 31.18/19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (7/6) ที่ระดับ 31.19/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบเงินสกุลหลัก โดยเมื่อคืนที่ผ่านมายังไม่มีปัจจัยใด ๆ ที่ส่งผลต่อตลาดเงินมากนัก โดยนักลงทุนส่วนใหญ่จับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันพฤหัสบดี (10/6) นี้ เพื่อประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อและท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐว่าจะมีแนวโน้มคุมเข้มนโยบายการเงินเร็วเกินคาดหรือไม่

โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค จะพุ่งขึ้น 4.7% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับตัวขึ้น 4.2% ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านอยู่ที่ระดับ 82.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 84.3 ในเดือนเมษายน ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 11 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 โดยปัจจัยหลักมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ยังไม่คลี่คลายและยังเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิต

ในขณะที่นักลงทุนยังคงให้ความสนใจกับสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศ โดยวันนี้ (8/6) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานว่า ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 2,662 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 2,128 ราย และผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 534 ราย มีผู้เสียชีวิต 28 ราย โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบระหว่าง 31.17-31.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.20/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (8/6) ที่ระดับ 1.2187/88 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (7/6) ที่ระดับ 1.2159/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ซึ่งเป็นการแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามในระหว่างวัน สถาบัน Destatis ได้ออกมาเปิดเผยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีประจำเดือนเมษายน พบว่าหดตัวลง 1.0% แย่กว่าเดือนก่อนหน้าที่ปรับเพิ่มขึ้น 2.2% และแย่กว่าที่คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 0.5%

โดยนักลงทนจับตาการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสบดีนี้ (10/6) โดยตลาดคาดการณ์ว่าจะยังคงตรึงนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไป โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2165-1.2195 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2172/74 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/6) ที่ระดับ 109.42/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (7/6) ที่ระดับ 109.43/46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังแกว่งตัวในกรอบ แม้ว่าสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2564 หดตัวลง 3.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งดีกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าหดตัวลง 5.1% และหากเทียบเป็นรายไตรมาส พบว่าหดตัวลง 1% ซึ่งดีกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าหดตัวลง 1.3%

โดยปัจจัยที่ทำให้ตัวเลข GDP ปรับสูงขึ้นในไตรมาส 1 มาจากการใช้จ่ายในภาครัฐและการใช้จ่ายด้านที่ชะลอตัวลงน้อยกว่าตัวเลขประมาณการในเบื้องต้น นอกจากนั้น ด้านกระทรวงการคลังเปิดเผยในวันนี้ว่า ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 1.32 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นการเกินดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 82 โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.25-209.55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.54/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานสินเชื่อผู้บริโภคของสหรัฐ (8/6), ตำแหน่งว่างงานเปิดใหม่จาก JOLTs ของสหรัฐ (8/6), ยอดขายการค้าส่งออกสหรัฐ (9/6), ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของสหรับ (10/6), จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (10/6) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของรัฐมิชิแกนของสหรัฐ (11/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.25/0.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรับ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.7/1070 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ