อาคม ชี้ ทำไม พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน จึงเป็นทางเลือกสุดท้ายของรัฐบาล

แฟ้มภาพ

“อาคม” อธิบายละเอียด ทำไม พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จึงเป็นทางเลือกสุดท้ายของรัฐบาล ย้ำ รัฐบาลตระหนักถึงวินัยการเงินการคลังของประเทศ ความคุ้มค่า และความโปร่งใส ในการใช้จ่ายเงินกู้ 

วันที่ 9 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท

มติชน รายงานว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้แก้ไขสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 มาต่อเนื่องผ่านแหล่งเงินภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ ทั้งการจัดสรรงบฯกลาง พ.ร.ก.กู้เงินฯ แต่พบว่า ยังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาการระบาดในระลอกใหม่ได้ อีกทั้งเงินทุนสำรองจ่ายที่เหลืออยู่ มีไม่เพียงพอ

ขณะที่การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2564 นั้น รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ปี 2564 มีข้อจำกัดและได้รับผลกระทบจากการระบาดจากเชื้อโควิด-19 หากจะรอแหล่งเงินจากงบประมาณปี 2565 จะไม่ทันต่อการแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ผู้ประกอบการ

ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขสถานการณ์และหยุดยั้งการแพร่ระบาดเชื้อโควิด ซึ่งงบประมาณดังกล่าวไม่อาจดำเนินการให้ได้มาโดยวิธีงบประมาณปกติ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีจำเป็นเร่งด่วน มิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นทางเลือกสุดท้ายของรัฐบาลในการตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้

นายอาคมกล่าวอีกว่า สำหรับ พ.ร.ก.กู้เงินฉบับนี้ มีสาระสำคัญสรุป คือ การให้อำนาจกระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศในวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงิน หรือออกตราสารหนี้ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายใน 3 แผนงาน ได้แก่

1.แผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการระบาดเชื้อโควิด-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท

2.แผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ วงเงิน 3 แสนล้านบาท

3.แผนงานหรือโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท

“การตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ รัฐบาลตระหนักถึงวินัยการเงินการคลังของประเทศ ความคุ้มค่า และความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินกู้ จึงมีการกำหนดกรอบการใช้เงินที่สอดคล้องกับกฎหมายวินัยการเงินการคลังอย่างรอบคอบรัดกุม รัฐบาลไทยและรัฐบาลทุกประเทศทั่วโลกได้กู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้สิ้นปี 2564 ระดับหนี้ภาครัฐบาลของโลก คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 92 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2,760 ล้านล้านบาท” รมว.คลังกล่าว

นายอาคมกล่าวด้วยว่า ตัวเลขหนี้ของไทย สิ้นเดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ร้อยละ 50.69 ต่อจีดีพี ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเปรียบเทียบกรอบเพดานตามนิยามสากล ดังนั้นการกู้เงินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลมีเจตนาเพื่อให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตไปให้ได้

ทั้งนี้ การก่อหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น กระทรวงการคลังจะกระทำด้วยความรอบคอบ อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีแหล่งเงินเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยประชาชนตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ด้วยเหตุนี้จึงต้องตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้