ดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบแคบ ตลาดจับตาตัวเลขเงินเฟ้อวันพรุ่งนี้

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์-เงิน-ผลตอบแทน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 9 มิถุนายน 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/6) ที่ระดับ 31.18/19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัว จากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (8/6) ที่ระดับ 31.19/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐ ลดลง 8.2% สู่ระดับ 6.89 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือน เม.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.9 หมื่นล้านดอลลาร์ และลดจากระดับ 7.50 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือน มี.ค. ซึ่งถือว่าเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้ ทางด้านสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่าตัวเลขการเปิดรับสมัครงานพุ่งขึ้นสู่ระดับ 9.3 ล้านตำแหน่งในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือน ธ.ค. 2543 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.18 ล้านตำแหน่ง

ทั้งนี้ นักลงทุนยัจับตาดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน พ.ค. ที่จะเปิดเผยในวันพฤหัสบดีนี้ ทางด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค จะพุ่งขึ้น 4.7% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากดีดตัวขึ้น 4.2% ในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งก่อนหน้านี้ ดัชนี CPI ของสหรัฐดีดตัวขึ้นสูงเกินคาดในเดือน เม.ย.

และหากดัชนียังคงปรับตัวอย่างร้อนแรงในเดือน พ.ค. ก็อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญาณเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 15-16 มิ.ย. 2564 ซึ่งจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น นักลงทุนเฝ้าติดตามความคืบหน้าการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศ หลังเกิดปัญหาปริมาณวัคซีนที่ได้รับจัดสรรไม่เพียงพอกับความต้องการ จนทำให้สถานพยาบาลบางแห่งต้องเลื่อนนัดการฉีดออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทั้งนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ (9/6) 2,680 ราย

โดยเป็นผู้ติดเชื้อใหม่ 2,400 ราย จากเรือนจำ 280 ราย และมีผู้เสียชีวิต 35 ราย และยังมีประเด็นต้องติดตามเรื่องการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.13-31.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.16/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (9/6) ที่ระดับ 1.2172/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (8/6) ที่ระดับ 1.2175/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยบรรดานักลงทุนมุ่งความสนใจในสัปดาห์นี้ไปที่การประชุมนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐ โดยตลาดคาดว่า ECB จะยังคงดำเนินโครงการซื้อพันธบัตรฉุกเฉินที่อัตราปัจจุบันต่อไป

เนื่องจากมีสัญญาณว่า เศรษฐกิจยุโรปโซนยังไม่ฟื้นตัวได้เร็วตามคาด ขณะที่ข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐ จะเป็นข้อมูลสำคัญก่อนการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2171-1.2194 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2188/90 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่เางินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/6) ที่ระดับ 109.48/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (8/6) ที่ระดับ 109.49/50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันพฤหัสบดีนี้ เพื่อประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อของสหรัฐ โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.33-109.50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.45/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายการค้าส่งของสหรัฐ (9/6), ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของสหรัฐ (10/6), จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (10/6) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของรัฐมิชิแกนของสหรัฐ (11/6)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.25/0.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.70/1.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ