ธปท.ทบทวนลดเงิน FIDF-จ่ายเงินปันผลประจำปี

รณดล นุ่มนนท์

ธปท. ออกมาตรการเพิ่มเติม 3 มาตรการเสริม กำชับแบงก์ยืดหนี้เอสเอ็มอีถึงสิ้นปี’64-ปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก ยันคงสถานะจัดชั้นหนี้-ไม่ติดเครดิตบูโร เล็งทบทวนจ่ายเงินปันผลประจำปี’64 ในไตรมาส 4 นี้ พร้อมพิจารณาลดเงิน FIDF จาก 0.23%

วันที่ 11 มิถุนายน 2564 นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพิ่มเติม 3 มาตรการ ได้แก่ 1.การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ ซึ่งจากเดิมจะครบกำหนดพักชำระหนี้ในเดือนมิถุนายนนี้จะขยายไปถึงสิ้นปี 2564 โดยขยายครอบคลุมทุกกลุ่มจากเดิมที่อยู่ในกลุ่มวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยให้คงการจัดชั้นหนี้ ไม่ผิดนัดชำระหนี้และติดประวัติในบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) และไม่โดยเบี้ยปรับ

และ 2.กำหนดกลไกเพิ่มเติมให้การปรับโครงสร้างหนี้มีความชัดเจนมากขึ้นตามกระแสเงินสดของลูกหนี้ในระยะข้างหน้า โดยดูความสามารถในการชำระหนี้ การจ่ายหนี้คืน และขยายระยะเวลาให่สอดคล้อง เพื่อให้มีการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มมากขึ้น โดย ธปท.จะช่วยสถาบันการเงินในเรื่องของการจัดชั้นลูกหนี้ และการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ

ขณะที่ 3.ให้ธนาคารสามารถจ่ายเงินปันผลเฉพาะกาลได้ โดยจะต้องไม่เกินอัตราการจ่ายเงินปันผลเฉพาะกาลในปีก่อนหน้า และไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 และยังคงงดซื้อหุ้นคืน ห้ามไถ่ถอน หรือซื้อหุ้นกู้ก่อนกำหนด เว้นจากสถาบันการเงินมีแผนจะออกทดแทน เนื่องจากในบางครั้งที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มขาลง จะมีสถาบันการเงินบางแห่งไถ่ถอนกองทุนเดิมและออกใหม่ เพื่อประหยัดในเรื่องของต้นทุน ซึ่งอันนี้สถาบันการเงินสามารถทำได้ เนื่องจากมีแผนจะออกทดแทนเข้ามา ทั้งนี้ ในส่วนของการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2564 ธปท.จะประเมินสถานการณ์และติดตามการช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อพิจารณาและกำหนดนโยบายการจ่ายปันผลประจำปี 2564 ในไตรมาส 4 ต่อไป

สำหรับการปรับลดอัตราการเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จาก 0.23% ซึ่งมีการปรับลดลงจากเดิมที่อยู่ 0.46% นั้น ธปท.อยู่ระหว่างการพิจารณาโดยดูกลไกต่าง ๆ ซึ่งโจทย์สำคัญในการปรับลดอัตราเงินนำส่ง FIDF คือ การส่งผ่านเงิน FIDF ที่ลดลงส่งต่อไปยังลูกหนี้ได้อย่างไร จึงเป็นการบ้านที่ต้องพิจารณาเป็นสำคัญ


“ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ได้มีการประชุมและเห็นชอบให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีเพิ่มเติมในหลักการ 3 มาตรการด้วยกัน โดยประเด็นที่ ธปท. คือ การส่งผ่านความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างมีคุณภาพ เพราะการพักเงินต้นและดอกเบี้ยคงไม่เพียงพอ แต่ต้องการให้ช่วยเหลือลูกหนี้ให้มีความยั่งยืนและสามารถอยู่รอดได้ โดยมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดรับกับกระแสเงินสดในอนาคตผ่านมาตรการที่มีอยู่ได้”