ลุ้นรัฐจ่าย “คนละครึ่ง” ช่วยเอสเอ็มอีพยุงจ้างงาน 9 ล้านราย

SME-เอสเอ็มอี-1

รัฐบาลจ่ออุ้มจ้างงานเอสเอ็มอี ลุ้นครอบคลุมแรงงานเฉียด 9 ล้านราย ฟาก สศช.เร่งถกเอกชนจัดทำฐานข้อมูลเอสเอ็มอีทั้งระบบ ก่อนเคาะมาตรการช่วยเหลือตรงจุด

แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านเอสเอ็มอี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาจัดทำมาตรการช่วยเหลือพัฒนาเอสเอ็มอี เรียกว่า “business developmentservice” (BDS)

โดยส่วนหนึ่งจะเป็นการดูแลเอสเอ็มอีที่กำลังยากลำบาก อย่างเช่น ไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างแรงงานในช่วงเจอผลกระทบโควิด-19 เป็นต้น เพื่อให้อยู่รอดได้ ทั้งธุรกิจที่อยู่ใน “กลุ่มสีเขียว” ที่ต้องการเพิ่มความสามารถการทำธุรกิจ เช่น เพิ่มกำลังผลิต เพิ่มยอดขาย ลดต้นทุน เป็นต้น

“กลุ่มสีเหลือง” หรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ที่ต้องมีการปรับโครงสร้างการทำธุรกิจ เช่น เปลี่ยนช่องทางขายไปสู่ดิจิทัล เปลี่ยนถ่ายมาตรฐานเพื่อให้ส่งออกได้มากขึ้น เป็นต้น

และ “กลุ่มสีแดง” ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ต้องได้รับความช่วยเหลือ เช่น พักหนี้ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นต้น

แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัจจุบันการจ้างงานของเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบแล้วอย่างมาก โดยคาดว่ามีแรงงานได้รับผลกระทบแล้วราว 1.2 ล้านราย และอยู่ในข่ายที่ต้องช่วยอีกน่าจะราว ๆ 8 ล้านราย ซึ่งการให้รัฐจ่ายค่าจ้างงาน (copay) 50% อยู่ในวิสัยที่ทำได้

อย่างไรก็ดี การช่วยเหลืออาจจะต้องโฟกัสกลุ่มที่มีโอกาสฟื้นตัวได้ก่อน เช่น เอสเอ็มอีในกลุ่มส่งออกที่อาจจะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เพราะจะเป็นการช่วยเหลือในจุดที่กำลังฟื้น ซึ่งจะทำให้สามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ดี การจะเลือกว่าจะช่วยกลุ่มใดแค่ไหน อย่างไร ต้องให้ทางเอกชนไปหาข้อสรุปร่วมกัน ก่อนมาเสนอภาครัฐอีกที

“การช่วยเหลือเอสเอ็มอี จะครอบคลุมกี่ราย ขึ้นกับว่ารัฐจะสนับสนุนงบประมาณเท่าใด ซึ่งก็คงใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยปัจจุบันโครงสร้างเอสเอ็มอีในเมืองไทยมีทั้งสิ้น 5 ล้านราย ลงทะเบียนแล้ว 3 ล้านราย ส่วนอีก 2 ล้านราย ยังไม่ได้ลงทะเบียน

ทั้งนี้ รายที่เป็นขนาดกลางมีประมาณ 4-5 หมื่นราย และรายเล็กประมาณ 4 แสนราย ที่เข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แล้ว ที่เหลือยังไม่เข้าระบบภาษี โดยกลุ่มที่ลำบากสุดวันนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มร้านอาหารและธุรกิจเกี่ยวข้องกับบริการ อาทิ โรงแรมที่ได้รับผลกระทบถึง 1.8 ล้านห้องส่วนร้านอาหารก็อีกหลายแสนราย” แหล่งข่าวกล่าว

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ได้มีการหารือร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางดำเนินมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีช่วงครึ่งปีหลังรวมถึงประชุมร่วมกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เพื่อให้ได้ข้อสรุปในการดำเนินมาตรการดูแลเอสเอ็มอีที่ต้องการความช่วยเหลือ

และเร่งออกมาตรการให้เอสเอ็มอีได้รับประโยชน์จริง โดยยอมรับว่า การช่วยเหลือพยุงการจ้างงาน ตามที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอให้รัฐช่วยจ่ายค่าจ้างงานคนละครึ่ง ก็เป็นแนวทางที่หารือกันอยู่

“ตอนนี้ยังไม่ได้สรุป ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะเอสเอ็มอีบ้านเราไม่ได้อยู่ในระบบทั้งหมด จึงต้องมาคิดวิธีการว่าจะทำอย่างไร แม้จะมีบางส่วนที่จ่ายภาษีอยู่ในระบบ แต่คนที่อยู่นอกระบบก็ต้องมาดูว่าจะช่วยหรือไม่ อย่างไร ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ได้กำหนดว่าจะช่วยทั้งเอสเอ็มอีที่อยู่ในและนอกระบบ แต่ก็ต้องดูข้อมูลให้ครบ ไม่งั้นมาตรการที่ออกมาจะไม่ได้ประโยชน์จริง”นายดนุชากล่าว

เลขาธิการ สศช. กล่าวด้วยว่า หากได้ข้อสรุปแล้ว ก็ต้องเสนอให้ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ.เห็นชอบ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป หรือหากเป็นโครงการที่ต้องใช้จ่ายเงินกู้ ก็จะต้องผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ก่อนที่จะเสนอ ครม. อนุมัติโครงการด้วย

ก่อนหน้านี้ ทางเลขาฯ สศช. ระบุว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ในหมวดเยียวยาที่กำหนดไว้ 3 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งจะใช้เยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สู้มาตลอด 1 ปีด้วย