เงินบาทปรับตัวแข็งค่า นักลงทุนจับตาร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.11/13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (8/11) ที่ระดับ 33.12/14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยภาวะค่าเงินบาทในช่วงสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เนื่องจากยังไม่มีตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญในขณะนี้ นักลงทุนกำลังติดตามความคืบหน้าแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐ ซึ่งตลาดมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการผลักดันแผนปฏิรูปภาษี ของคณะทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ หลังจากที่สื่อสหรัฐรายงานว่า บรรดาแกนนำพรรครีพับลิกัน ในวุฒิสภาสหรัฐกำลังพิจารณาแผนเลื่อนเวลาบังคับใช้กฎหมายปฏิรูประบบภาษีออกไปอีก 1 ปี เนื่องจากพวกเขามีความวิตกว่า การที่ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันพ่ายแพ้ให้กับคู่แข่งจากเดโมแครต ในศึกเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนียและนิวเจอร์ซีย์นั้น อาจทำให้กระบวนการปฏิรูประบบภาษีมีความซับซ้อนมากขึ้น

ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศนั้น นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% โดย กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ ตามแรงส่งจากภาคต่างประเทศ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศขยายตัวได้ต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ประเมินไว้ ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “Thailand Economic Outlook 2018 : An Era of business Transformation ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในไตรมาส 3/60 มีโอกาสโตทะลุ 4% จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการปรับตัวเลข GDP ปีนี้ไปแล้ว และคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 61 นายสมคิดยังได้กล่าวอีกว่า ในช่วงปลายปีนี้ เศรษฐกิจโตดีกว่าคาด ซึ่งการที่แบงก์ชาติคงอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเศรษฐกิจกำลังขยายตัวได้ดี จึงไม่มีความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งแบงก์ชาติสภาพัฒน์เวิลด์แบงก์ยืนยันเสียงเดียวกันเห็นว่าเราดีขึ้น แม้หลายภาคส่วนยังต้องได้รับการช่วยเหลือ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 33.10-33.13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.10/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (9/11) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1589/91 ดอลลารสหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (8/11) ที่ระดับ 1.1604/06 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แต่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงบ่ายที่ระดับ 1.1612 จากความไม่แน่นอนในการปฏิรูปภาษีของสหรัฐ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1589-1.1611 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1597/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (9/11) เปิดตลาดที่ระดับ 113.92/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (8/11) ที่ระดับ 113.81/83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แต่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงบ่ายที่ระดับ 113.61 หลังจากกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผย ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน เม.ย.-ก.ย. ขยายตัวแตะ 11.53 ล้านล้านเยน (1.01 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2550 โดยได้รับแรงหนุนจากเม็ดเงินลงทุนของต่างประเทศ ทั้งนี้ ยอดเกินดุล พุ่งขึ้น 12.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับ 10.38 ล้านล้านเยน ยอดส่งเพิ่มขึ้น 12.9% แตะที่ระดับ 37.56 ล้านล้านเยน ขณะที่ยอดนำเข้าปรับตัวขึ้น 15.1% แตะที่ระดับ 34.88 ล้านล้านเยน สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ในเดือน ก.ย.เพียงเดือนเดียว ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 2.27 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 21.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นยอดเกินดุลติดต่อกัน 39 เดือนแล้ว ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 113.49-114.02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 113.47/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (9/11) สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนกันยายน (9/11) และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (110/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.7/-0.55 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.0/-1.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ