ดอลลาร์อ่อนค่าลงแม้ตัวเลขเงินเฟ้อดีเกินคาด

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์-เงิน-ผลตอบแทน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 7-11 มิถุนายน 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (7/6) ที่ระดับ 31.18/19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/6) ที่ระดับ 31.27/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเทียบเงินสกุลหลักในช่วงเช้านี้ หลังจากวันศุกร์ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐประจำเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 559,000 ตำแหน่ง ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นที่ระดับ 671,000 ตำแหน่ง

อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้เปิดเผยตัวเลขคำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐประจำเดือนเมษายนลดลง 0.6% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าจะลดลงที่ระดับ 0.2% นอกจากนี้นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐเปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เสนอโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน นั้น เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งครอบคลุมถึงการสร้างงานและช่วยเหลือครัวเรือนในสหรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐให้ฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

โดยที่ผ่านมาสหรัฐได้ต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเกินไปมาเป็นเวลานาน หากสหรัฐสร้างสภาพแวดล้อมที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นเล็ก ก็อาจจะเป็นผลดีต่อมุมมองของสังคมและมุมมองของเฟด ในส่วนของกระทรวงแรงงานสหรัฐได้มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยระบุว่า ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 0.6% ในเดือนพฤษภาคมเมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าระดับคาดการณ์ที่ 0.5% และเมื่อเทียบเป็นรายปีดัชนี CPI ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.0% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2551

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายพิพัฒน์ รัชกิจปราการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯกำลังพิจารณาแนวทางการฟื้นฟูการท่อเที่ยวในประเทศหลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ค่อย ๆ คลี่คลายลง และมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเป็นส่วนใหญ่แล้ว

โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยว เบื้องต้นถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนในเดือนสิงหาคมนี้ จะเริ่มต้นโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 3 และทัวร์เที่ยวไทย ซึ่งทั้ง 2 โครงการได้กำหนดจำนวนคนร่วมโครงการเอาไว้ประมาณ 3 ล้านคน ทั้งนี้ตลาดยังคงจับตาดูตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนในประเทศอย่างใกล้ชิด โดยในวันอังคาร (8/6) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นสภาอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 82.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 84.3 ในเดือนเมษายน ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 11 เดือนนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563

โดยปัจจัยหลักมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ยังไม่คลี่คลายและยังเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต ในวันพฤหัสบดี (10/6) ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยายหอการค้าไทยมีการเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤษภาคมดิ่งลงอยู่ที่ 44.7 จากระดับ 46.0 ในเดือนเมษายน ถือว่าเป็นระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในประเทศรอบที่ 3 ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลง และการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ล่าช้า ส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก และยังมีประเด็นต้องติดตามเรื่องการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท

โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยูในกรอบระหว่าง 31.03-31.23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (4/6) ที่ระดับ 31.07/08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันจันทร์นี้ (7/6) ที่ระดับ 1.2162/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/6) ที่ระดับ 1.2115/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้สถาบัน Sentix ได้ออกมาเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของสหภาพยุโรปที่ระดับ 28.1 ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 25.5

นอกจากนี้สถาบัน Destatis ได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขยอดสั่งื้อสินค้าจากโรงงานแห่งเยอรมันประจำเดือนเมษายนที่ระดับ -0.2% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 0.4% ขณะที่วันอังคาร (8/6) สถาบัน Destatis ได้ออกมาเปิดเผยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีประจำเดือนเมษายน พบว่าหดตัวลง 1.0% แย่กว่าเดือนก่อนหน้าที่ปรับเพิ่มขึ้น 2.2% และแย่กว่าที่คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 0.5%

ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรืออัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากกับ ECB ที่ระดับ -0.5% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% ตามคาด พร้อมกันนี้ ECB มีมติคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ที่ระดับ 1.85 ล้านล้านยูโร ซึ่ง ECB จะซื้อพันธบัตรตามโครงการดังกล่าวจะถึงเดือนมีนาคมปี 2565 โดยจะซื้อพันธบัตรในวงเงินเดือนละ 2 หมื่นล้านยูโร

นอกจากนี้ ECB คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนในปี 2564 จะอยู่ที่ 4.6% สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนมีนาคมที่ 4% และคาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็น 1.9% ในปีนี้ ซึ่งใกล้เคียงกับระดับเป้าหมาย และสูงกว่าตัวเลขประมาณการล่าสุดที่ 1.2% ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.2141-1.2218 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (4/6) ที่ระดับ 1.2156/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (7/6) ที่ระดับ 109.59/61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/6) ที่ระดับ 110.11/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีแห่งญี่ปุ่นได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขตัวชี้วัดนำของญี่ปุ่นที่ระดับ 103.0% ซึ่งเทียบเท่ากับที่คาดการณ์ ณ ระดับ 103.0%

นอกจากนี้ตลาดจับตาสถานการณ์การควบคุมแพร่ระบาดโควิด-19 ในญี่ปุ่นก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่จะเริ่มต้นขึ้นในอีก 50 วัน โดยนายยาซูฮิโร ยามาชิตะ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกของญี่ปุ่น ได้เปิดเผยถึงแผนการดังกล่าวว่า นักกีฬาชาวญี่ปุ่นราว 95% ที่จะเข้าแข่งขันโอลิมปิกในปีนี้เตรียมเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยระบุว่าแพทย์จะทำการฉีดวัคซีนจำนวน 2 โดสให้กับนักกีฬา 600 คน รวมถึงโค้ชและทีมงาน 1,000 คน ภายในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้

โดยค่าเงินเยนยังแกว่งตัวในกรอบ แม้ว่าสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2564 หดตัวลง 3.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งดีกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าหดตัวลง 5.1% และหากเทียบรายไตรมาสพบว่า หดตัวลง 1% ซึ่งดีกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าหดตัวลง 1.3% โดยปัจจัยที่ทำให้ตัวเลข GDP ปรับสูงขึ้นในไตรมาส 1 มาจากการใช้จ่ายในภาครัฐและการใช้จ่ายด้านทุนที่ชะลอตัวลงน้อยกว่าตัวเลขประมาณการในเบื้องต้น

นอกจากนั้น ด้านกระทรวงการคลังเปิดเผยในวันนี้ว่า ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 1.32 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นการเกินดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 82


ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์คาเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.17-109.79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (4/6) ที่ระดับ 109.52/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ