“กรุงไทย” ชี้ เงินบาทมีโอกาสหลุด 31 บาทต่อดอลลาร์ตามเงินทุนไหลกลับ

เงินบาท-SET-ตลาดหุ้นไทย

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทเคลื่อนไหว 30.90-31.25 บาทต่อดอลลาร์ เกาะติดการประชุมเฟด-ตัวเลขเศรษฐกิจยอดค้าปลีก-อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ “กรุงไทย” ชี้ โอกาสเห็นเงินบาทหลุด 31.00 บาทต่อดอลลาร์ เหตุเงินทุนไหลเข้าตลาดบอร์ด

วันที่ 13 มิถุนายน 2564 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 14-18 มิถุนายน 64) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.90-31.20 บาทต่อดอลลาร์ มองว่า ค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้ามีโอกาสหลุดที่ระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ไหลเข้าจากนักลงทุนต่างชาติ

นอกจากนี้ ผลการประชุม (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดว่าจะคงนโยบายเนื่องจากมองว่าอัตราเงินเฟ้อเป็นปัจจัยชั่วคราว จึงยังไม่เร่งปรับลดนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (QE) ทำให้ดอลลาร์ยังคงมีทิศทางอ่อนค่า ซึ่งจะหนุนค่าเงินบาทแข็งค่าได้ รวมถึงปัจจัยที่ต้องติดตามจะเป็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ทยอยออกมาในสัปดาห์หน้า

“เรามองว่าเงินบาทมีความเสี่ยงจะหลุด 31 บาทต่อดอลลาร์ ไปอยู่แถวๆ กรอบล่างที่ระดับ 30.90 บาทต่อดอลลาร์ได้ อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่จะหนุนให้ดอลลาร์กลับมาแข็งค่าได้ คือ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในอังกฤษ หรือกลุ่มยูโรที่ชะลอการเปิดเมืองออกไปก่อน ซึ่งลุ้นว่าบาทจะแตะ 31 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบบน 31.20 บาทต่อดอลลาร์ จะมาจากแรงเทขายทำกำไรบางส่วน แต่เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงพยายามดูแลอยู่”

สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาวันที่ 7-11 มิถุนายน 64 พบว่า นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นสุทธิอยู่ที่ 3,569 ล้านบาท และซื้อบอนด์สุทธิ 14,819 ล้านบาท และคาดว่าสัปดาห์หน้ายังคงซื้อบอนด์ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับพันธบัตรไทย

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางเงินบาทสัปดาห์หน้าจะอยู่ในกรอบ 30.95-31.25 บาทต่อดอลลาร์ โดยต้องติดตามยอดค้าปลีก พ.ค. ของสหรัฐฯ และการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) วันที่ 15-16 มิ.ย.64 ว่าจะส่งสัญญาณลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่อย่างไร

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสังเกตว่าแม้เงินบาทยังคงเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่าสุดในกลุ่มนับตั้งแต่ต้นปี แต่เงินบาทกลับมาแข็งค่านำภูมิภาคในเดือนนี้ เนื่องจากกระแสเงินทุนไหลกลับเข้ามา ความสับสนเรื่องการจัดหาและกระจายวัคซีนคลี่คลายลง เริ่มฉีดได้เร็วขึ้น แต่ยังคงต้องติดตามความต่อเนื่องของการฉีดวัคซีน ขณะที่เงินบาทไล่ตามสกุลเงินภูมิภาคที่แข็งค่ามาก่อนหน้านี้แล้ว อีกทั้งกระแสเงินทุนไหลออกเพื่อจ่ายปันผลหมดลง

“กรณีเฟดส่งสัญญาณไม่เร่งลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเน้นย้ำว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว จะทำให้บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ลดต่ำลง และกดดันเงินดอลลาร์อ่อนค่า”