ก.ล.ต.เคลียร์ปม ห้ามซื้อขายโทเค็น 4 ลักษณะ “ตัดไฟแต่ต้นลม”

หลังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกประกาศหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 11) โดยเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา

เมื่อค่ำวันที่ 11 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการห้ามศูนย์ซื้อขายให้บริการ “Utility Token พร้อมใช้”หรือคริปโทเคอร์เรนซี 4 ลักษณะ มาซื้อขายในศูนย์ซื้อขาย โดยมีผลบังคับใช้ทันทีและไม่มีผลย้อนหลัง

ทำให้เกิดกระแสไม่เห็นด้วยจากคนในวงการผ่านทางโซเชียลมีเดีย โดยส่วนหนึ่งตั้งคำถามว่า ก่อนจะออกเกณฑ์นี้ เหตุใด ก.ล.ต.จึงไม่เปิดรับฟังความคิดเห็นเหมือนกับที่ดำเนินการก่อนจะออกประกาศอีกหลาย ๆ ฉบับ

ทำให้สำนักงาน ก.ล.ต.ต้องเปิดเวทีออนไลน์ ชี้แจงถึงการดำเนินการดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา

โดย “รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการก.ล.ต. กล่าวว่า ประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต.ฉบับดังกล่าว มีเจตนารมณ์คุ้มครองผู้ซื้อขายหรือนักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นหลัก เพราะในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นความผันผวนของราคาคริปโทเคอร์เรนซีค่อนข้างมาก ประกอบกับหน่วยงานกำกับดูแลในหลายประเทศต่างออกมาเตือน และควบคุมดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลกันมากขึ้น ทางสำนักงาน ก.ล.ต.จึงได้นำเสนอบอร์ด ก.ล.ต.ออกประกาศดังกล่าว

ถามว่าทำไมไม่เปิดเฮียริ่งก่อนบังคับใช้เพราะเราเห็นเป็นความจำเป็นเร่งด่วนซึ่งตามกฎระเบียบพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ก็ให้อำนาจสำนักงาน ก.ล.ต. สามารถขอผ่อนผัน หรือยกเว้นการเปิดรับฟังความเห็นได้ เราดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนและเวลาที่ปรากฏชัด ไม่มีใครมากำหนดอย่างไรก็ดี ประกาศมีผลบังคับใช้ไปแล้ว ดังนั้น ก.ล.ต.จะรับข้อสังเกตจากโซเชียลมีเดียมาพิจารณา เพื่อนำไปปรับปรุงประกาศในอนาคต”

เลขาธิการ ก.ล.ต.ย้ำว่า ก.ล.ต.มีหน้าที่กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล และเมื่อเกิดข้อสงสัยจากประชาชน จึงต้องสร้างความกระจ่าง เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจน โดยหลังจากนี้ก็จะต้องเชิญผู้ประกอบธุรกิจมาหารือเรื่องกติกากฎเกณฑ์ที่ออกมาบังคับใช้แล้วต่อไป

“จารุพรรณ อินทรรุ่ง” ผู้ช่วยเลขาธิการสายธุรกิจตัวกลางและตลาด ก.ล.ต. กล่าวว่าการที่สั่งห้าม “ศูนย์ซื้อขาย”นำเหรียญ 4 ลักษณะตามที่กำหนดมาซื้อขายนั้น โดยกรณี Meme Token พบว่า เป็นเหรียญที่ไม่มีวัตถุประสงค์ หรือสาระชัดเจน หรือไม่มีสิ่งใดรองรับ ส่วนใหญ่เป็นเหรียญที่ออกมาเพื่อความสนุกสนาน หรือการล้อเลียน หรือแข่งขันกับ Meme Token ที่มีอยู่ในตลาดที่คนนิยมเช่น เหรียญรูปสัตว์ต่าง ๆ

“สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ Meme Token มีการเก็งกำไรซื้อขายสูงมาก ราคามีความผันผวน ซึ่งจะเห็นเวลามีคนทวีต (โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์) จะไปกระทบกับราคาเหรียญ เพราะฉะนั้น จึงมีโอกาสถูกปั่นได้ง่าย”

ขณะที่กรณี Fan Token จะเป็นการสร้างเหรียญขึ้นมา โดยใช้คนหรือบุคคลที่มีคนชื่นชอบมารองรับการออกเหรียญเพื่อนำเหรียญไปแลกสินค้าหรือบริการเกี่ยวกับบุคคลเหล่านั้นได้ เช่น ทีมฟุตบอล, ดารา, อินฟลูเอนเซอร์ เป็นต้น ซึ่ง ก.ล.ต.มีความเป็นห่วงว่า

เหรียญเหล่านี้มีการให้ราคาหรือคุณค่าของเหรียญ ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบ อารมณ์ ความรู้สึกเช่น ชอบดาราคนนี้มาก ก็อาจจะให้ราคาเหรียญสูง ในขณะที่อีกคนให้ราคาเหรียญต่ำ ดังนั้น ทำให้ราคาเหรียญมีความผันผวน และมีการเก็งกำไรสูง

“นอกจากนี้ จะมีกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องบุคคลเหล่านี้ ซึ่งทำแผนการตลาด หรือกิจกรรมต่าง ๆ อาจจะมีโอกาสข้อมูลภายในที่มากกว่าคนอื่น ๆ อาจใช้ข้อมูลดังกล่าวใช้ประโยชน์ในการซื้อขายและเอาเปรียบผู้ลงทุนหรือผู้ซื้อขายคนอื่นในตลาดได้ ฉะนั้น เหรียญแบบนี้มีโอกาสถูกปั่นได้ และอาจกระทบราคาในตลาดได้”

ส่วน NFT เป็นเหรียญที่ออกมาเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของสิ่งที่มีอยู่ชิ้นเดียวในโลก หรือของที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง โดยไม่สามารถใช้เหรียญประเภทเดียวกันแทนกันได้ ลักษณะการซื้อขายเหรียญประเภทนี้จะมีตลาดเฉพาะและมีกลุ่มคนซื้อขายเฉพาะ อาทิ ตลาดประมูล ที่มีการประมูลภาพหายากและมีชิ้นเดียวในโลก ดังนั้น เหรียญแบบนี้มีตลาดเฉพาะรองรับอยู่แล้ว

สุดท้าย เหรียญที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยศูนย์ซื้อขายเอง เพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้ประโยชน์สำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชน จะเป็นลักษณะออกเองและมาลิสต์เองอยู่ในตลาดของตัวเอง

โดยความน่าเป็นห่วง คือ ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (conflict of interest) เพราะบุคคลที่เกี่ยวข้องจะเป็นคนกำหนดเอกสารประกอบการเสนอขาย (white paper) ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา หรือจะให้ข่าวที่มีผลกระทบกับเหรียญ หรือกระทบไปถึงราคาในตลาด หรือมีการใช้ข้อมูลเพื่อการเทรดเอาเปรียบผู้อื่นก็สามารถทำได้ จึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดผลกระทบกับผู้ซื้อขายตามมาได้

“ก.ล.ต.พิจารณาแล้วว่าเหรียญทั้ง 4ลักษณะดังกล่าว มีโอกาสที่จะมีความเสี่ยงสูง และจะกระทบผู้ลงทุน จึงจำเป็นต้องออกเกณฑ์มาบังคับดังกล่าว”

นอกจากนี้ “ธวัชชัย พิทยโสภณ” ผู้ช่วยเลขาธิการสายกฎหมาย ก.ล.ต. กล่าวว่า เหรียญที่ถูกห้ามไม่ให้นำไปลิสต์ในศูนย์ซื้อขาย แต่ ก.ล.ต.ไม่ได้ห้ามในกรณีทำธุรกรรมนอกตลาดแต่อย่างใด

นี่เป็นคำอธิบายของฝั่งผู้กำกับดูแล ซึ่งเน้นการ “ตัดไฟแต่ต้นลม”เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นสำคัญ แน่นอนว่าคงไม่ถูกใจผู้ที่ชื่นชอบความเสี่ยงที่สามารถรับมือกับความเสี่ยงระดับสูงได้