ดอลลาร์อ่อนค่าเล็กน้อย นักลงทุนจับตาผลประชุมเฟด

Baht-ดอลลาร์-1

เงินดอลลาร์อ่อนค่าเล็กน้อย นักลงทุนจับตาผลประชุมเฟดในวันที่ 15-16 มิ.ย. นี้ คาดยังคงตรึงดอกเบี้ยระยะสั้นเหมือนเดิม ขณะที่ปัจจัยในประเทศเงินบาทถูกกดดันจากปัญหาวัคซีนมีไม่เพียงพอ ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงเพิ่มขึ้น ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 31.11/13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 15 มิถุนายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/6) ที่ระดับ 31.09/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อย จากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (14/6) ที่ระดับ 31.12/14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเทียบเงินสกุลหลัก

โดยนักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 15-16 มิ.ย. โดยเฉพาะการปรับตัวเลขประมาณการด้านเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย, อัตราเงินเฟ้อ และอัตราว่างงานในการประชุมดังกล่าว รวมถึงถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ซึ่งจะมีขึ้นหลังการประชุมในวันพุธ

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าในการประชุมครั้งนี้เฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และยังคงเดินหน้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงิน 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน

อย่างไรก็ดีนักวิเคราะห์คาดว่าเฟดจะเริ่มหารือกันเกี่ยวกับการปรับลดวงเงิน QE ในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 26-28 ส.ค. และจะเริ่มดำเนินการปรับลด QE ในเดือน ธ.ค. หรือต้นปีหน้า ก่อนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2566

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทยังถูกกดดันจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน และปัญหาวัคซีนไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลให้การฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างล่าช้า โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานยอดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนในวันที่ 14 มิ.ย. 64 มีจำนวนผู้ได้รับวัคซีน 323,060 โดส

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 19 ราย โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.09-31.14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.11/13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (15/6) ที่ระดับ 1.2122/23 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (14/6) ที่ระดับ 1.2117/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ยูโรแข็งค่าขึ้นหลังจากยูโรสแตทเปิดเผยว่า การผลิตในภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือน เม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน และหากเทียบเป็นรายปี

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนพุ่งขึ้น 39.3% ในเดือน เม.ย. ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การผลิตในภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน เม.ย.เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 37.4% เมื่อเทียบรายปี โดยการผลิตในภาคอุตสาหรกรมของยูโรโซนได้รับแรงหนุนจากการที่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หลังจากมีการปิดเศรษฐกิจก่อนหน้านี้เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2115-1.2148 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2121/25 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/6) ที่ระดับ 110.05/06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (14/6) ที่ระดับ 110.06/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังแกว่งตัวอยู่ในกรอบ

โดยความเคลื่อนไหวในประเทศญี่ปุ่นนั้น นายทามาโยะ มารุกาวะ รัฐมนตรีโอลิมปิกของญี่ปุ่น กล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตกลงรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ เพื่อฉีดให้กับเจ้าหน้าที่จัดงานโตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิกเพิ่มอีก 20,000 คน แม้จะได้รับแรงกดดันจากประชาชนที่ต้องการให้ยกเลิกหรือเลื่อนการแข่งขันออกไป แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้เดินหน้าจัดเตรียมงานในขั้นสุดท้าย เพื่อจัดการแข่งขันโอลิมปิกในวันที่ 23 ก.ค.นี้

โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.99-110.15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.06/08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนียอดขายปลีกพื้นฐานของสหรัฐ (15/6), ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐ (15/6), ดัชนียอดขายปลีกของสหรัฐ (15/6), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐ (15/6), ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหราชอาณาจักร (16/6), รายงานดัชนีการผลิตจากธนาคารกลางรัฐฟิลาเดลเฟียของสหรัฐ (17/6), ตัวเลขผู้ยื่นของสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ (17/6) และดัชนียอดขายปลีกของสหราชอาณาจักร (18/6)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.30/0.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.7/0.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ