“กอบศักดิ์” ชี้ไทยเตรียมเผชิญ 3 โจทย์ใหญ่หลังโควิด คาดจีดีพีโตแค่ 1-2%

กอบศักดิ์ ภูตระกูล

“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” มองไทยเผชิญโจทย์ใหญ่ 3 ด้านหลังโควิด-19 “ดิสรัปชั่น-สงครามการค้าระอุ-ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์” กดดันการแข่งขันธุรกิจทวีความรุนแรง แนะเตรียมตั้งรับความท้าทาย คาดเศรษฐกิจไทยโตได้ 1-2% หลังฟื้นตัวปลายปีนี้

วันที่ 17 มิถุนายน 2564 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวถึง “มุมมองการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยุคใหม่ หลังโควิด-19 หรือ Post COVID Era” ว่า แม้ว่าหากดูเศรษฐกิจในระยะสั้นในปี 2564 มองว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปีนี้ หากยืนระยะการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ในระดับวันละ 500,000 โดสได้

แต่ก็จะเห็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในระดับ 1-2% เท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมาความสูญเสียจากการระบาดของโรคโควิด-19 ได้กัดกร่อนการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทยไปมาก

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ยังต้องเจอกับปัจจัยเสี่ยงและความท้าทาย ไม่ว่าการระบาดรอบ 3 และ 4 ที่จะตามมาในอนาคต การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกภายใต้ความผันผวนที่จะเกิดขึ้น โดยโจทย์ใหญ่ที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในช่วง 1 ปีหลังจากนี้ ซึ่งเป็นประเด็นโจทย์ระยะยาวที่ไทยต้องเผชิญหลังจากโควิด-19 จะมีอยู่ 3 โจทย์หลักด้วยกัน ได้แก่

1.ความเสี่ยงที่ไทยเผชิญก่อนจะเกิดโควิด-19 จะเป็นปัญหาที่มาจากการถูก “ดิสรัปชั่น” Disruption ที่จะรุนแรงมากกว่าเดิมและเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งจะเป็นตัวที่จะมาเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น เช่น ภาคอุตสาหกรรม วงการอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือรถอีวี ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น การวิจัยต่าง ๆ หรือการ Disruption พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนที่รวดเร็วมากกว่าเดิม เช่น สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ดีลิเวอรี่ และออนไลน์ เป็นต้น

“แม้ปัญหาจากการถูก ‘ดิสรัปชั่น’ จะเป็นความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยเผชิญอยู่แล้วก่อนโควิด แต่ปัญหานี้จะกลับมารุนแรงกว่าเดิมมาก โดยใช้ระยะเวลาสั้น ๆ จากเดิมที่คิดว่าจะเกิดขึ้นต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี แต่ปัจจุบันเพียง 1 ปี เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซึ่งจะก่อให้เกิดการแข่งขันในระดับประเทศและต่างประเทศ และจะมีผลกระทบต่อการทำธุรกิจ และคนไทยในระยะข้างหน้าได้”

2.ปัญหาสงครามทางการค้า (Trade war) ที่จะกลับมารุนแรงเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่หลายคนอาจจะดีใจว่าการที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ “โดนัลด์ ทรัมป์” พ่ายแพ้ต่อการเลือกตั้งที่ผ่านมาจะทำให้สงครามการค้าทุเลาลง แต่จริง ๆ แล้วปัญหาสงครามการค้ายังไม่จบ และยังคงเดินหน้าความรุนแรงต่อเนื่อง หลัง “โจ ไบเดน” ผู้นำสหรัฐคนใหม่ออกมาเดินหน้าแบนจีนอย่างต่อเนื่อง

โดยการสั่งแบน 59 บริษัทในจีนที่เข้ามาทำธุรกิจในสหรัฐ รวมพลังประเทศต่าง ๆ จัดการกับจีน หรือการกล่าวหาว่าเชื้อโควิด-19 ไม่ได้มาจากธรรมชาติ แต่มาจากห้องแล็ป[ของจีน ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้นำมาสู่สงครามการค้าอีกครั้ง

“ปัญหาเทรดวอร์จะทำให้เกิดการโยกย้ายธุรกิจออกจากจีนมาสู่ภูมิภาค เพื่อย้ายไปสู่แหล่งการผลิตใหม่ที่จะทำให้เกิดการแข่งขันครั้งใหญ่อีกรอบในอนาคต เหล่านี้เป็นทั้งความท้าทายและปัญหาสำหรับเศรษฐกิจไทย ที่อาจได้ทั้งประโยชน์ และผลกระทบจากเทรดวอร์ครั้งนี้”

และ 3.ปัญหาจากภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่มาจากทั้งสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ เช่น ประเทศอิสราเอลและปาเลสไตน์ ปัญหาจากภูมิอากาศ ปัญหาจากสิ่งแวดล้อม รวมถึงความตึงเครียดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเมืองระหว่างประเทศที่เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งปัจจัยนี้จะก้าวเข้ามากระทบต่อภูมิภาคอาเซียน และกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าจากการที่ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางของอาเซียน

ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อมตั้งรับเพื่อเตรียมรับมือกับโจทย์ที่ท้าทายเหล่านี้ เพื่อก้าวสู่ยุคความปกติใหม่ (New Normal) หลังจากนี้ให้ได้ เศรษฐกิจไทยถึงจะกลับมาฟื้นตัวและกลับมาเติบโตได้ในระยะข้างหน้า

“หลายบริษัทรอคอยให้โควิด-19 ผ่านพ้นไป เพราะคิดว่า ทุกอย่างจะดีขึ้น แต่ยังไม่รู้ว่ามีสิ่งที่เซอร์ไพรส์รอเราอยู่หลังโควิดอีกมาก ดังนั้น หากเราไม่มีการเตรียมการที่ดี เราอาจตายก่อนจบก็ได้ เราจึงต้องเตรียมพร้อมรองรับสิ่งต่าง ๆ ให้ได้ ให้เพียงพอ โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพประเทศ การทำธุรกิจ การผลิตต่าง ๆ ให้มากขึ้น”

“เพราะการแข่งขันจะรุนแรงขึ้น โจทย์และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอีกมาก เช่น ประเทศอินโดนีเซีย ที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้สอดรับกับการทำธุรกิจ หรือเวียดนามที่มีสัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มเป็น 3 เท่าของไทย ดังนั้น ไทยจะต้องขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการแข่งขันหลังโควิดและการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีความท้าทายในข้างหน้านี้”