ดอลลาร์แข็งค่า หลังเฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด

Baht-ดอลลาร์-1

ดอลลาร์แข็งค่าหลังเฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ขณะที่ปัจจัยในประเทศยอดผู้ติดเชื้อยังเพิ่มสูงขึ้น ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 31.39/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 17 มิ.ย. 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/6) ที่ระดับ 31.31/33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (16/6) ที่ระดับ 31.15/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลังจากผลประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาเมื่อคืนนี้ (16/6) ว่าเฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และยังคงเดินหน้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงิน 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือนต่อไป

อย่างไรก็ดี เฟดได้ส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ 1 ปี โดยรายงาน dot-plot ระบุว่ากรรมการส่วนใหญ่ 13 ใน 18 ราย คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปีหน้า

และสำหรับการปรับลดวงเงิน QE เฟดระบุว่าทางกรรมการเฟดจะยังคงหารือกันในเรื่องนี้ต่อไปจนกว่าจะเห็นตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐที่ขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพและอัตราเงินเฟ้อดีดตัวขึ้นสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ในวันนี้สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงขึ้น โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานว่า ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 3,129 ราย แบ่งป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,672 ราย และผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 457 ราย มีผู้เสียชีวิต 30 ราย

นอกจากนี้เมื่อวานนี้ (16/6) นายกรัฐมนตรีได้มีการประกาศเป้าหมายจะเปิดประเทศไทยทั้งประเทศให้ได้ภายใน 120 วันนับจากนี้ โดยให้ประชาชนเตรียมความพร้อมโดยจะเริ่มจากเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทเล็กน้อย

ทำให้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.30-31.39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.39/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (17/6) ที่ระดับ 1.1993/94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนคาจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (16/6) ที่ระดับ 1.2121/25 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร เนื่องจากการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐหลังจากที่เฟดได้ส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ 1 ปี

โดยการตัดสินใจของเฟดนั้น แตกต่างจากแนวทางของธนาคารกลางยุโรปที่ประกาศผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แม้จะมีสัญญาณเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นก็ตาม โดยทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1930-1.2007 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1933/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/6) ที่ระดับ 110.65/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (16/6) ที่ระดับ 109.94/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐหลังจากที่เฟดได้ส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์

ซึ่งเพิ่มความวิตกว่า เฟดอาจปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วขึ้น แม้ว่าเมื่อวานนี้ (16/6) ตลาดจะได้รับข่าวดีหลังจากที่กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดส่งออกเดือนพฤษภาคมของญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 49.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะระดับ 6.26 ล้านล้านเยน (5.7 หมื่นล้านดอลลาร์) ซึ่งถือเป็นการขยายตัวแข็งแกร่งที่สุดในรอบ 41 ปี

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.55-110.80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.74/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ รายงานดัชนีการผลิตจากธนาคารกลางรัฐฟิลาเดลเฟียของสหรัฐ (17/6), ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ (17/6) และดัชนียอดขายปลีกของสหราชอาณาจักร (18/6)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.10/0.25 สตางค์/ดอลลารืสหรับ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.4/1.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ