จับตาราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่ง 3 นัยต่อทิศทางเศรษฐกิจ

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก
ขวัญใจ เตชเสนสกุล 
EXIM BANK

 

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาได้เกิดปรากฏการณ์ที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายรายการเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบหลายปี อาทิ ราคาเหล็กเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ราคาน้ำมันดิบ Brent สูงสุดในรอบ 2 ปี และราคาทองแดงสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี โดยมีแรงหนุนจากเศรษฐกิจและภาคการผลิตโลก นำโดยสหรัฐ และจีนที่ฟื้นตัวจาก COVID-19 ได้อย่างแข็งแกร่ง ทำให้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้น

ขณะที่หลายฝ่ายคาดว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในระยะถัดไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการที่เศรษฐกิจของอีกหลายประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังจากที่มีการทยอยฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วดังกล่าวจะส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกในหลายมิติ ดังนี้

– เศรษฐกิจของประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการผลิตขนาดใหญ่ อาทิ บราซิล (ผู้ส่งออกแร่เหล็กอันดับ 2 ของโลก) ชิลี (ผู้ส่งออกทองแดงอันดับ 1 ของโลก) รวมถึงประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจของละตินอเมริกาและตะวันออกกลางในปี 2563 หดตัว 7.0% และ 2.9% ตามลำดับ

นับเป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจหดตัวมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก อย่างไรก็ตาม จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา ทำให้หน่วยงานเศรษฐกิจหลายแห่งต่างทยอยปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2564 ของทั้งสองภูมิภาคขึ้น นอกจากนี้ หากพิจารณาการส่งออกของไทยไปทั้งสองภูมิภาคดังกล่าวเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยในช่วง 4 เดือนแรกปี 2564 มูลค่าส่งออกของไทยไปละตินอเมริกาเพิ่มขึ้นราว 20% และตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น 10% เทียบกับมูลค่าส่งออกรวมที่เพิ่มขึ้น 4.8%

– ตลาดเกิดใหม่บางประเทศมีแนวโน้มเผชิญปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน โดยเฉพาะประเทศที่มีการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ในสัดส่วนสูงและมีพื้นฐานเศรษฐกิจไม่แข็งแกร่งนักจากปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรังเป็นทุนเดิม ไม่ว่าจะเป็น ตุรกี โรมาเนีย และหลายประเทศในแอฟริกา รวมถึงบังกลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา ที่เริ่มกลับมาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 ซึ่งราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วดังกล่าว จะยิ่งกดดันให้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดรุนแรงขึ้น จนอาจกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเงินและอัตราแลกเปลี่ยน

โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือค่าเงินของตุรกีและศรีลังกาในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 2564 อ่อนค่าลงกว่า 16% และ 6% ตามลำดับ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจกดดันกำลังซื้อ ความเชื่อมั่น และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป

– หลายประเทศเริ่มเผชิญข้อจำกัดในการใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศเร่งตัวขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มข้อจำกัดให้กับธนาคารกลางในการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลางของหลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณที่จะแตะเบรกนโยบายการเงิน เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้เกินกรอบเงินเฟ้อเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางแคนาดาที่ส่งสัญญาณว่าอาจลดวงเงินซื้อพันธบัตรลง 25%

รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ ที่หลายฝ่ายคาดว่าอาจพิจารณาลดวงเงินเข้าซื้อพันธบัตรลงในช่วงปลายปี 2564 ซึ่งหากแตะเบรกแรงเกินไปอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จะเห็นได้ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ได้ส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ แตกต่างกันไป ดังนั้น ผู้ส่งออกจึงควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งประเด็นเรื่องราคาสินค้าโภคภัณฑ์และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เพื่อนำมาปรับกลยุทธ์ในการสร้างโอกาสทางการค้า รวมถึงเตรียมเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที