สมาคมประกันชีวิตถกคปภ. รื้อแบบ “ประกันบำนาญ” ใหม่ รับสังคมสูงวัย

ผู้สูงอายุ
ภาพข่าว : Pixabay

นายกสมาคมประกันชีวิตไทยเร่งยกเครื่อง “ประกันบำนาญ” ใหม่ ลั่นต้องตอบโจทย์สังคมสูงอายุให้คนไทยมีรายได้เพียงพอดำรงชีพหลังเกษียณอย่างแท้จริง เร่งถก คปภ.รอบด้าน ทั้งเรื่อง “ภาษี-เกณฑ์ตั้งสำรอง”

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต (MTL) ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า สมาคมและสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เตรียมจะหารือกันถึงความคืบหน้าการพัฒนาแบบประกันบำนาญใหม่ เพื่อให้ตอบโจทย์ชีวิตคนไทยในสังคมผู้สูงอายุ (aging society) โดยเป้าหมายหลักคือ ต้องเป็นแบบประกันบำนาญที่เกษียณอายุแล้ว ผู้เอาประกันต้องดำรงชีพได้จริง

ซึ่งรูปแบบเบื้องต้นจะตัดฟีเจอร์ความคุ้มครองชีวิต (ทุนประกัน) ออกไป เนื่องจากแบบประกันบำนาญไม่ใช่แบบประกันเพื่อคุ้มครองกรณีเสียชีวิต แต่เป็นการออมเพื่ออายุยืนยาว ซึ่งปัจจุบันเงินบำนาญที่ผู้เอาประกันได้รับช่วงเกษียณออกมาน้อย ส่งผลให้ไม่มีเงินเพียงพอดำรงชีพ

“ตอนนี้เรากำลังคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยมีเงินบำนาญที่แท้จริงหลังเกษียณ ซึ่งอาจจะไม่ใช่รูปแบบ one for all แต่กำหนดได้แต่ละคนไปเลยว่าหลังเกษียณจะมีเงินคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน อาจจะ 50-80% เพื่อให้ดำรงชีพต่อไปได้ยืนยาวหลังจากไม่ได้ทำงานแล้ว” นายสาระกล่าว

ขณะเดียวกัน รูปแบบที่ออกมาต้องตอบโจทย์ภาคธุรกิจมากขึ้น จากปัจจุบันการออกแบบประกันบำนาญมาขายลูกค้าทำได้ยากมาก เพราะเส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve) ตกลง ดังนั้น รูปแบบในอดีตที่ คปภ.กำหนดไว้อาจจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ได้ให้ทางอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมรับเรื่องไปและนำเสนอเงื่อนไข 7 ประเด็นกับทาง คปภ. โดยตอนนี้อยู่ระหว่างที่ คปภ.กำลังพิจารณาอยู่

“จากที่ได้พูดคุยกับผู้บริหาร คปภ.ก็เห็นภาพคล้ายกัน แต่ตอนนี้มีหลายเรื่องที่ดูให้ครบทั้งภาษีและเกณฑ์การตั้งสำรอง ซึ่งปัจจุบันแบบประกันบำนาญต้องตั้งสำรองสูงมาก” นายกสมาคมประกันชีวิตไทยกล่าว