“ค้ำทุกเคส” ต่อสายป่าน SMEs บสย. ผนึก 23 แบงก์ เร่ง “สินเชื่อฟื้นฟู” แสนล้าน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ส่งผลกระทบต่อทั้งระบบเศรษฐกิจ ทำให้ภาคธุรกิจต้องเผชิญความยากลำบาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอี และรายย่อย ซึ่งภาครัฐได้เข้าไปช่วยด้วยการสนับสนุนแหล่งเงินทุน โดยมีเป้าหมายเพื่อพยุงธุรกิจเหล่านี้ให้อยู่รอดได้จนกระทั่งวิกฤตโรคระบาดผ่านพ้นไป

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้รับโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “วสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์” รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทช่วยต่อลมหายใจของผู้ประกอบการที่กำลังยากลำบาก

โควิดกระทบทุกกลุ่ม

“วสุกานต์” ฉายภาพว่า โควิดส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีแทบทุกกลุ่มโดยเอสเอ็มอีในเมืองไทยที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ และขึ้นทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มีประมาณ 3 ล้านราย

อย่างไรก็ดี ยังมีกลุ่มที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอยู่อีกที่เป็นรายเล็ก ๆ ทั้งธุรกิจค้าปลีก ซื้อมาขายไป ค้าขายออนไลน์ อีกประมาณ2 ล้านรายโดยกลุ่มที่เห็นผลกระทบชัดเจนที่สุดก็คือ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวเช่น ร้านอาหาร, ร้านค้า, ร้านขายของที่ระลึก เป็นต้น

“โควิดทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก คนที่ไม่มีเงินหมุนเวียนเพียงพอก็จะกระทบค่อนข้างมาก ซึ่งต้องยอมรับว่าธุรกิจรายเล็ก ๆ เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันการเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศ มีการจ้างงานรวมกันกว่า 10 ล้านราย

อย่างไรก็ดี เชื่อว่ายังมีเอสเอ็มอีอีกหลายรายที่ยังไม่รู้ว่ามี บสย.ที่จะเข้าช่วยเหลือได้ดังนั้น บสย.จึงพยายามประชาสัมพันธ์มากขึ้น ที่ผ่านมาก็มีไปจับมือกับกระทรวงพาณิชย์ทำโครงการ “จับคู่กู้เงิน” สื่อสารให้ผู้ประกอบการได้ทราบว่า บสย.มีโครงการค้ำประกันสินเชื่อ

เริ่มตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไปจนถึง 500,000 บาท ดังนั้น ธุรกิจรายเล็ก ๆ ก็สามารถที่จะเข้ามาขอความช่วยเหลือได้”

เร่งสินเชื่อฟื้นฟูพยุงธุรกิจ

ในปัจจุบัน บสย.มีบทบาทสนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 250,000 ล้านบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยตั้งเป้าหมายเฟสแรกจะค้ำประกันสินเชื่อให้ได้ 100,000 ล้านบาทภายในปีนี้

แต่คาดว่าจะเต็มวงเงินได้ภายใน 6 เดือน ซึ่งขณะนี้ยอดค้ำประกันทะลุ 2 หมื่นล้านบาทแล้ว คิดเป็นจำนวนผู้ประกอบการกว่า 8,000 ราย หรือค้ำประกันเฉลี่ย 2.5 ล้านบาทต่อราย

โดยในส่วนนี้มีรายใหญ่สุุด วงเงินอยู่ที่ 120 ล้านบาท ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มค้าปลีกอาหาร เครื่องดื่ม 10% ต่อมาเป็นยาสูบ วัตถุดิบทางการเกษตร สัตว์ กิจกรรมการบริการ ภัตตาคารอาหารและบาร์

แล้วก็มีกลุ่มก่อสร้างด้วย โดยส่วนใหญ่ที่ค้ำประกันไปอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ 40% ต่างจังหวัด 60% อาทิ จังหวัดชลบุรี 10% อุดรธานี 9% สุราษฎร์ธานี 6.5% เป็นต้น

“วสุกานต์” บอกว่า สินเชื่อฟื้นฟูถูกออกแบบมาเพื่อช่วยธุรกิจโดยการชดเชยความเสียหาย (max claim) กำหนดไว้ที่ 40% มากกว่าในอดีตที่อยู่ที่ 25-35% นับเป็นความพยายามของกระทรวงการคลัง บสย. และ ธปท. ที่ต้องการจะสร้างความเชื่อมั่นให้ธนาคารกล้าปล่อยกู้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน ต้นทุนสินเชื่อฟื้นฟูถือว่าถูกมาก ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือธุรกิจอย่างแท้จริง โดยใน 2 ปีแรกจะคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี และเฉลี่ยไม่เกิน 5% ในช่วง 5 ปี

โดยปีแรกจะบวกค่าค้ำประกันอีก 1.75% ต่อปี แต่จะได้รับการยกเว้นดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก หมายความว่าช่วง 6 เดือนแรกจะจ่ายแต่ค่าค้ำประกัน 1.75% เท่านั้น ขณะเดียวกัน ธปท.ยังไม่อนุญาตให้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมใด ๆ ทั้งสิ้น

ยัน บสย. “ค้ำทุกเคส” อนุมัติไว

“วสุกานต์” บอกว่า สินเชื่อฟื้นฟูถือว่าเข้ามาปลดล็อกการทำงานของ บสย.ที่เคยทำงานแต่กับเอสเอ็มอีรายเล็ก ๆ โดยขยายฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม ที่พักต่าง ๆ โดยผู้ประกอบการที่มีสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อธนาคาร

สามารถขอสินเชื่อฟื้นฟูได้สูงสุด 30% หรือ 150 ล้านบาท และสามารถกู้สูงสุดได้ถึง 3 ธนาคาร หรือรวมแล้ว 450 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นวงเงินค้ำประกันที่มากที่สุดที่ บสย.เคยค้ำประกันมา ส่วนผู้ที่ไม่เคยขอสินเชื่อมาก่อนสามารถขอสินเชื่อรวมได้สูงสุด 20 ล้านบาท

“กระบวนการขอค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูนั้น เริ่มจากเอสเอ็มอีที่ต้องการสินเชื่อต้องเข้าไปคุยกับธนาคารเพื่อให้ธนาคารประเมินและพิจารณาคุณสมบัติ แล้วส่งข้อมูลต่อไปให้ ธปท.

ซึ่ง ธปท.จะใช้เวลาในการอนุมัติไม่เกิน 3 วัน และส่งกลับไปให้ธนาคารเพื่อทำเรื่องเอกสารให้เรียบร้อย หลังจากนั้นก็จะส่งมาให้ บสย.ดำเนินการต่ออีกไม่เกิน 3 วันเช่นกัน โดยปัจจุบันสามารถอนุมัติได้ภายใน 1 วันเลยด้วยซ้ำหากเอกสารครบถ้วน

เนื่องจากสินเชื่อฟื้นฟูเป็นการทำงานระหว่าง ธปท. กระทรวงการคลัง และ บสย. โดย บสย.ทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติ การอนุมัติอยู่ที่ ธปท. ดังนั้น เมื่อส่งมาเราก็มีหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งเราก็ค้ำประกันให้กับทุกรายหรือค้ำทุกเคส”

ยอดค้ำสินเชื่อฟื้นฟูเร่งตัวขึ้น

“วสุกานต์” บอกว่า ช่วงแรกกระบวนการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูอาจล่าช้าไปบ้างเนื่องจากมีหลายธนาคารที่ยังไม่เคยทำงานร่วมกัน และด้วยระบบที่ใช้เป็นระบบออนไลน์ทั้งหมด

ทำให้บางธนาคารต้องใช้เวลาในการติดตั้งระบบไอทีเพื่อเชื่อมต่อกับ บสย. โดยขณะนี้มีธนาคารที่เข้าร่วมโครงการนี้แล้วทั้งสิ้น 23 ธนาคาร ทำให้ยอดค้ำประกันมีอัตราเร่งขึ้นต่อเนื่อง

“ในวันนี้เราเห็นแล้วว่าแต่ละวันยอดค้ำประกันมีอัตราเร่งขึ้นมาก โดยในเดือน มิ.ย.แค่กว่า 10 วันมียอดค้ำประกันแล้ว 12,000 ล้านบาท เฉลี่ยอนุมัติวันละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งระบบของเราสามารถรองรับได้ถึง 5,000 ล้านบาทต่อวัน”

ทั้งนี้ มองว่าธุรกิจที่ยังลำบาก กลุ่มที่ควรโฟกัส ก็มีกลุ่มร้านอาหาร ซึ่งขณะนี้ร้านอาหารย่อย ๆ เริ่มเปิดแล้ว ถือว่าเป็นคนตัวเล็ก ๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ส่วนกลุ่มโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมาก อาจจะต้องอาศัยเวลาและรอให้วัคซีนป้องกันโควิดกระจายได้ทั่วประเทศและทั่วโลก

“ถ้าวัคซีนกระจายทั่วประเทศแล้ว ก็จะเที่ยวในเมืองไทยกันได้มากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้การท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้น ดังนั้น วัคซีนจะเป็นตัวปลดล็อกให้เศรษฐกิจกลับมาทำงานได้ดีขึ้น”

2 ปีโควิดยอดค้ำทะลุ 2 แสนล้าน

ทั้งนี้ บสย.ได้เข้าไปช่วยเหลือเอสเอ็มอีทุกกลุ่ม นับตั้งแต่ปี 2563 ที่โควิดเริ่มระบาด บสย.ค้ำประกันสินเชื่อไปกว่า 1.4 แสนล้านบาท ขณะที่ในปี 2564 ค้ำประกันแล้วอีก 80,000 ล้านบาท

รวมแล้วค้ำประกันสินเชื่อช่วงโควิดไปแล้วกว่า 220,000 ล้านบาท ส่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 8.8 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถรักษาธุรกิจไม่ให้ต้องปิด และช่วยไม่ให้คนตกงาน

จ่อขยายขอบเขตค้ำประกัน

“วสุกานต์” กล่าวอีกว่า นอกจากการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท.แล้ว บสย.ยังมีโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs สร้างชาติ (PGS 9) ที่ดำเนินการตั้งแต่ก่อนหน้านี้

วงเงินรวม 150,000 ล้านบาท ผ่านมาราว 5 เดือนจนถึงปัจจุบันค้ำประกันไปแล้ว 46,500 ล้านบาท ยังมีวงเงินเหลืออยู่ 130,000 ล้านบาท

“ช่วงนี้เราจะแนะนำให้ลูกค้าไปใช้สินเชื่อฟื้นฟูก่อน เพราะต้นทุนต่ำและเงื่อนไขผ่อนปรนมาก โดยบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอสินเชื่อฟื้นฟูได้ แต่ตามเงื่อนไขสินเชื่อฟื้นฟูกำหนดการให้ขอสินเชื่อได้ 30%

ดังนั้น ถ้าเป็นกรณีที่เป็นผู้ประกอบการรายเล็กก็จะได้วงเงินน้อย อาจจะไม่พอ อย่างไรก็ดี ส่วนที่ไม่เข้าเงื่อนไขสินเชื่อฟื้นฟูเอสเอ็มอีก็สามารถขอใช้ PGS 9 ได้”

นอกจากนี้ ในระยะต่อไป บสย.เตรียมขยายการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งการค้ำประกันสินเชื่อแฟกตอริ่ง (Factoring) ซึ่งอยู่ระหว่างหารือกับ ธปท. รวมถึงการขยายการค้ำประกันไปสู่กลุ่มผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) ด้วย

เติมทุน-ความรู้ผู้ประกอบการ

รักษาการผู้จัดการทั่วไป บสย.กล่าวด้วยว่า นอกจากบทบาทเรื่องการค้ำประกันสินเชื่อแล้ว บสย.ยังได้เปิดบริการ “หมอหนี้” แนะนำลูกค้าโดยมีศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน ตั้งอยู่ที่ชั้น 1

อาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) ซึ่งจะให้คำแนะนำรายบุคคล และรายกลุ่ม รวมทั้งดูแลทุกด้านไม่เฉพาะการเงิน ขณะนี้ให้บริการไปแล้ว 4,200 ราย

“บางครั้งผู้ประกอบการยังขาดประสบการณ์ในเรื่องการตลาด ออกแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ การทำบัญชีหลังบ้าน เป็นต้น ไม่ใช่ต้องการสินเชื่อเพียงอย่างเดียว

ซึ่งการให้ความรู้จะสามารถช่วยทำให้เอสเอ็มอีในประเทศแข็งแรงขึ้น ทั้งนี้ บสย.ให้บริการฟรี และยังมีบริการออนไลน์ด้วยผ่านทาง LINE @doctor.tcg”

เรียกได้ว่า บสย.เป็นหน่วยงาน “แบ็กอัพ” อย่างแท้จริง ทั้งช่วยสร้างความมั่นใจให้แบงก์กล้าปล่อยกู้ และช่วยให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีหลักประกันได้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อโดยเฉพาะในภาวะที่ยากลำบากเช่นนี้