ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังเฟดปรับแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงาน สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน 2564

วันที่ 21 มิถุนายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/6) ที่ระดับ 31.51/52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/6) ที่ระดับ 31.45/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเทียบเงินสกุลหลักในช่วงเช้านี้

หลังจากเมื่อวันศุกร์ (18/6) ที่ผ่านมา นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกมากล่าวถึงแนวโน้มที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ โดยอย่างเร็วที่สดในปลายปี 2565 เพื่อที่จะควบคุมเงินเฟ้อที่มีโอกาสแตะถึงระดับ 3% ในปี 2564 และยังคาดการณ์ว่าระดับเงินเฟ้อสหรัฐจะอยู่ที่ 2.5% จนถึงปี 2565 ซึ่งสูงกว่าระดับเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%

ทั้งนี้ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของสหรัฐที่ผ่านมา กรรมการเฟดจำนวน 13 จาก 18 ราย คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปลายปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่ได้ส่งสัญญาณในเดือนมีนาคมว่า เฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567 นอกจากนี้ เฟดยังคาดว่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2566

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ วันอาทิตย์ (20/6) ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศ ข้อกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 24) ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีสาระสำคัญคือการคลายล็อกทุกพื้นที่สี และปรับพื้นที่ควบคุมตามสถานการณ์ใหม่ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เหลือง 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ

นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงจับตาดูตัวเลขความคืบหน้าของผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ภายในประเทศ อย่างใกล้ชิดเพื่อให้สอดคล้องตามเป้าหมายของนายกรัฐมนตรี ที่มีการตั้งเป้าเปิดประเทศภายในเวลา 120 วัน โดยคาดว่าจะต้องมีการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชากรอย่างน้อย 50 ล้านคน ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในระดับที่ปลอดภัยสำหรับการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.48-31.66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.60/61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (21/6) ที่ระดับ 1.1869/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อย จากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/6) ที่ระดับ 1.1860/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าหลังจากวันศุกร์ (18/6) ที่ผ่านมา สถาบัน Destatis ให้ออกมาเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตของเยอรมันประจำเดือนพฤษภาคม ที่ระดับ 1.5% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 0.7%

ทั้งนี้รัฐบาลอังกฤษกำลังพิจารณาแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดสแล้ว เพื่อสนับสนุนให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้อีกครั้ง โดยอนุญาตให้ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงปานกลางหรือโซนสีเหลือง ซึ่งฉีดวัคซีนครบทั้งสองโดสแล้ว ไม่ต้องเข้ารับการกักตัวเมื่อเดินทางมาถึงอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวว่า รัฐบาลยังไม่มีการตัดสินใจที่ชัดเจนในประเด็นดังกล่าว โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1846-1.1900 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1895/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/6) ที่ระดับ 110.21/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/6) ที่ระดับ 110.19/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ นายคัตสึโนบุ คาโตะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ส่งสัญญาณความเป็นไปได้ว่า การแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกลและพาราลิมปิก อาจจัดโดยไม่มีผู้ชม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงรุนแรง การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นโดยที่ญี่ปุ่นมีเวลาเหลือเพียง 1 เดือนก่อนที่การแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกจะเริ่มต้นขึ้นวันที่ 23 กรกฎาคมนี้

ทั้งนี้ ชาวญี่ปุ่นยังคงมีความกังวลเกียวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งอาจแพร่ระบาดอย่างรุนแรงระหว่างช่วงเวลาที่จัดการแข่งขัน โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.70-110.26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.10/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของเยอรมัน (23/6), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของเยอรมัน (23/6), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐ (23/6), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของสหรัฐ (23/6), ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมของสหรัฐ ไตรมาสต่อไตรมาส (24/6), ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานสหรัฐ (24/6), ดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐ (25/6) และ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ (25/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.10/0.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 3.00/3.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ