เปิดใจประธาน “แบงก์กรุงเทพ” ปรับแผนธุรกิจ รับศึกหนี้เสีย

ปิติ สิทธิอำนวย
ปิติ สิทธิอำนวย

ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุด ภาคธุรกิจและประชาชนได้รับผลกระทบอย่างหนัก รายได้ ยอดขายหดหาย จนถึงปิดกิจการ นำมาซึ่งปัญหาความสามารถชำระหนี้

ส่งผลทำให้สถานการณ์หนี้เสียพุ่งสูงขึ้น โดยธนาคารพาณิชย์ที่วันนี้ยังแข็งแรง จึงต้องช่วยแบกรับภาระในการพักหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ ให้กับลูกหนี้ รวมถึงการเติมสภาพคล่อง

และล่าสุดยังถูกกดดันจากนายกรัฐมนตรีที่ได้สั่งการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาให้สถาบันการเงินปรับลดดอกเบี้ย ขณะที่ความท้าทายปัญหาหนี้เสียยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ล่าสุด สื่อมวลชนมีโอกาสได้เจอ “ปิติ สิทธิอำนวย” ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพ จึงได้พูดคุยสัมภาษณ์ถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

ชี้แบงก์แบกภาระ-คิด ดบ.ต่ำ

โดย “ปิติ” ให้มุมมองว่า ภาพประเทศไทยจะชัดเจนขึ้น หลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบไปแล้ว 6 เดือนจึงจะรู้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวไปในทิศทางใด แต่มองว่าคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีที่เศรษฐกิจไทยจะกลับไปสู่ระดับปกติ

ซึ่งในระหว่างทาง 2 ปีไม่มีใครตอบได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นดังนั้น ทุกคนต้องปรับตัว ธุรกิจก็ต้องปรับตัว เช่นเดียวกับธนาคารกรุงเทพที่จะต้องปรับตัวและปรับแผนธุรกิจ

“แน่นอนแบงก์กรุงเทพก็ต้องปรับแผน และเชื่อว่าธนาคารทุกแห่งต้องปรับแผน ถามว่ารอบนี้จะเหมือนต้มยำกุ้งไหมก็ไม่แน่ แถมดีไม่ดีอาจจะแย่กว่าต้มยำกุ้งด้วยซ้ำ แต่โชคดีอย่างหนึ่ง คือ ลูกค้าตอนนี้เสียดอกเบี้ยอัตราต่ำเฉลี่ย 3-4% ถ้าเสียดอกเบี้ยสูงกว่านี้อาจจะแย่กว่านี้

เพราะธุรกิจเกือบทุกแห่งปิดvซึ่งโทษลูกค้าไม่ได้ เนื่องจากเปิดร้านอาหารก็ไม่ได้ เปิดขายของก็ไม่ได้ แล้วรายได้มาจากไหน มันเดือดร้อนตรงนี้ ซึ่งกลายเป็นว่าคนรับภาระตอนนี้ คือ ธนาคารพาณิชย์ เพราะได้ดอกเบี้ยสูงสุดแค่ 5-6%”

ปันผลปีนี้ตัวเลขอาจ “ไม่สวย”

ทั้งนี้ การที่แบงก์ต้องรับภาระช่วยลูกหนี้ ก็มีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น ดังนั้น ผู้ถือหุ้นจะต้องเข้าใจด้วย เพราะปีหน้าเงินปันผลจะออกมาอย่างไร ก็ไม่มีใครรู้ หรือปันผลระหว่างกาลปีนี้จะเป็นอย่างไร ก็ยังไม่รู้vเพราะตัวเลขยังไม่ออกมา แต่ดูตัวเลขเบื้องต้นแล้วไม่น่าสวยแน่นอน

ถ้าแบงก์ไหนบอกว่าจะออกมาสวย ก็ต้องนับว่าเก่ง แต่แบงก์กรุงเทพไม่เก่ง ส่วนจะต้องชี้แจงผู้ถือหุ้นหรือไม่นั้น “ปิติ” บอกว่า เมื่อแบงก์ก็ทำธุรกิจกับลูกค้า ดังนั้นถ้าธุรกิจไม่ดี แบงก์จะดีได้อย่างไร เพราะแบงก์จะโตได้ก็เพราะลูกค้าโต

“ดังนั้น ถ้าไม่มีปันผลระหว่างกาลก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เราก็เคยมีต้มยำกุ้ง ถามว่ารอบนี้จะเหมือนต้มยำกุ้งไหม ไม่แน่นะถ้าสังเกตดู ทุก ๆ แบงก์ต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ แบงก์เราก็ต้องตั้งสำรอง ถ้าไม่สำรองไว้ทุกคนจะลำบาก เราต้องป้องกันผู้ถือหุ้น โดยแนวโน้มกันสำรอง ของเรายังสูงกว่าตัวเลขของทางการ แต่ตั้งสำรองปีนี้น่าจะลดลงน้อยกว่าจากปี 2563 แล้ว สมัยก่อนสูงกว่าเยอะ เดี๋ยวนี้ลดลงมาแล้ว แต่ก็ยังสูงกว่าเกณฑ์ที่แบงก์ชาติกำหนด”

หนี้เสียมาแน่ “พุ่งทุกกลุ่ม”

“ปิติ” กล่าวอีกว่า ในแง่คุณภาพลูกหนี้ ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต้องเพิ่มขึ้น แต่ขึ้นเท่าไรยังไม่รู้ เพราะตัวเลขยังไม่นิ่ง แต่คาดคะเนว่า ตัวเลขที่ออกมาไม่สวยแน่นอน และตัวเลขขึ้นทุกกลุ่ม ยกเว้นกลุ่มคมนาคม และที่เหลือเกือบทุกกลุ่มแย่หมด โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่มีใครรู้ว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาเมื่อใด

“หากประเมินแนวโน้มหนี้เสียระยะข้างหน้า เพิ่มขึ้นแน่ ๆ แต่อย่าตกใจ ถ้าตัวเลขไม่ขึ้นไปที่ 6% ตอนนี้ไตรมาส 2 เอ็นพีแอลธนาคารพาณิชย์ถัวเฉลี่ยขยับมาอยู่ที่ 4% เพิ่มจากไตรมาสแรกที่อยู่กว่า 3%”

ประธานบอร์ดแบงก์กรุงเทพ กล่าวอีกว่า ธุรกิจที่น่าหนักใจตอนนี้ จะเป็นธุรกิจโรงแรม โดยลูกค้าของธนาคารกรุงเทพมีหลายรายที่มีโรงแรมอยู่ในต่างประเทศ เช่น ยุโรป อเมริกา เป็นต้น

ซึ่งโรงแรมทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 หมด ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ซึ่งต้องดูว่าพอร์ตตรงนี้จะควบคุมอย่างไร เพราะแม้ว่าตอนนี้พอร์ตโรงแรมในต่างประเทศยังไม่ได้เข้ามาขอปรับโครงสร้างหนี้ แต่เชื่อว่าต้องมาแน่

“ที่บอกว่าโรงแรมจะเปิดนั้น ถามว่าโรงแรมที่ปิดไปแล้ว กว่าจะฟื้นขึ้นมา ก็ต้องมีการลงทุนซ่อมแซมฟื้นฟูกิจการ ซึ่งประเมินว่าโรงแรมที่ปิดตัวชั่วคราวมากกว่า 50% เชื่อว่าจะยังกลับมาเปิดไม่ได้

แล้วจะฟื้นตัวอย่างไร ขณะที่ร้านค้าต่าง ๆ ก็เปิดไม่ได้ คนทำร้านอาหารเดี๋ยวนี้คู่แข่งเยอะ เพราะทุกคนแห่มาขายอาหารกันหมด และถามว่าขายได้เท่าไหร่ ตอนนี้ทุกร้านต้องลดราคาถัวเฉลี่ยลง 20%

แล้วจะมีกำไรเท่าไหร่ หรือบางร้านที่ต้องปิดไปจะกลับมาเปิดได้หรือไม่ เพราะตอนนี้กำลังซื้อก็น้อยลง” นายปิติกล่าว

เมื่อถูกถามถึงการลดเพดานดอกเบี้ยตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ประธานแบงก์กรุงเทพ กล่าวสั้น ๆ ว่า “ขออย่างเดียวให้การเมืองนิ่ง เพราะไทยโชคดีที่มีอาหารสมบูรณ์”