ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเล็กน้อย ตลาดจับตาถ้อยแถลงของพาวเวลล์คืนนี้

Baht-ดอลลาร์-1

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 22 มิถุนายน 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/6) ที่ระดับ 31.61/63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (21/6) ที่ระดับ 31.60/61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเทียบเงินสกุลหลักในช่วงเช้านี้ เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากที่ดอลลาร์พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในสัปดาห์ที่ผ่านา ขานรับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ นักลงทุนจับตานายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ซึ่งจะแถลงต่อคณะอนุกรรมการว่าด้วยวิกฤตการณ์โควิด-19 ประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในวันนี้ (22/6) เวลา 14.00 น. ตามเวลาสหรัฐ หรือเวลา 01.00 น. ของวันที่ 23 มิ.ย.ตามเวลาไทย

โดยนายพาวเวลล์แถลงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ และการใช้นโยบายการเงินของเฟด ซึ่งรวมถึงกาปล่อยเงินกู้ฉุกเฉิน เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์โควิด-19 โดยพาวเวลล์ระบุในแถลงการณ์ที่เตรียมเปิดเผยกับสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีทิศทางในเชิงบวก แม้เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นก็ตาม และย้ำว่าเฟดจะยังคงมีจุดยืนในการสนับสนุนเศรษฐกิจต่อไป เพื่อให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดอีกหลายรายในสัปดาห์นี้เกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ หลังจากที่นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในปีหน้าเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ธนาคารกลางสหรัฐสาขาชิคาโก เปิดเผยว่า ดัชนี Chicago Fed National Activity Index (CFNAI) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ +0.29 ในเดือน พ.ค. แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ +0.32 จากระดับ -0.09 ในเดือน เม.ย.

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้หารือร่วมกับผู้บริหารธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่งเป็นการเร่งด่วนเมื่อวานนี้ เพื่อสั่งการให้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งประชาชนรายย่อยและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยให้เสนอแผนงานกลับมาให้กระทรวงการคลังพิจารณาภายใน 1-2 สัปดาห์

เบื้องต้นทุกธนาคารเห็นตรงกันว่าจะมีการพักชำระหนี้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบไปจนสิ้นปี 64 จากปัจจุบันที่ช่วงเวลาพักหนี้ของธนาคารแต่ละแห่งไม่เท่ากัน และมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน โดยจะจัดทำเป็นมาตรการกลางแทน ซึ่งมีธนาคารของรัฐแห่งหนึ่งเสนอแผนช่วยเหลือลูกหนี้เป็นกรณีพิเศษ จากเดิมที่พักเงินต้นแต่ให้จ่ายดอกเบี้ยตามปกติหรือบางส่วน เป็นการพักชำระเงินต้นและลดดอกเบี้ยเหลือ 0% หรือ คิดแค่ 0.01% ต่อปีเท่านั้น ส่วนกรณีของธนาคารพาณิชย์ กระทรวงการคลังจะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร็ว ๆ นี้ เพื่อพิจารณาว่าสามารถทำได้หรือไม่ และทำได้มากน้อยแค่ไหน ในกลุ่มลูกค้าใดบ้าง โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.60-31.74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (22/6) ที่ระดับ 1.1910/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (21/6) ที่ระดับ 1.1895/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเมื่อคืน (21/6) นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า เศรษฐกิจยูโรโซนอาจฟื้นตัวเร็วกว่าคาด เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมาทำการใช้จ่ายอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามเธอย้ำว่า ECB จะยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป ความเห็นของนางลาการ์ดทำให้ตลาดคลายวิตกในช่วงที่ผ่านมาเกี่ยวกับแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

โดยบรรดานักลงทุนจะมุ่งความสนใจในขณะนี้ไปที่การเปิดเผยข้อมูลกิจกรรมทางธุรกิจของยูโรโซนในสัปดาห์นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้เกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1891-1.1915 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1893/94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/6) ที่ระดับ 110.38/39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (21/6) ที่ระดับ 110.10/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนโดนกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะช่วยให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ และญี่ปุ่นกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ การพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐยังผลักดันให้นักลงทุนเทขายเงินเยนซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.21-110.53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 1010.47/48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของเยอรมัน (23/6), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของเยอรมัน (23/6), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐ (23/6), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของสหรัฐ (23/6), ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมของสหรัฐไตรมาสต่อไตรมาส (24/6), ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานสหรัฐ (24/6), ดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐ (25/6) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ (25/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.10/0.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศ อยู่ที่ 3.50/4.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ