ธปท. หั่นจีดีพีเหลือโต 1.8% ห่วงเด็กจบใหม่-คนว่างงานระยะยาวพุ่ง

Mladen ANTONOV / AFP

ธปท.ปรับประมาณการจีดีพีปี 64 เหลือ 1.8% จากเดิม 3% และปี 65 หั่นเหลือ 3.9% จาก 4.7% ย้ำโจทย์สำคัญการจัดหาและกระจายวัคซีนให้ทันการณ์และพอเพียง เกาะติดประเด็น การระบาดยืดเยื้อกระทบนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 7 แสนคน ตลาดแรงงานเปราะบางฟื้นตัวแบบ W Shaped หวั่นสร้างแผลเป็นเศรษฐกิจไทย ระบุการส่งออกฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกฟื้น ปรับตัวเลขจาก 10% เป็น 17.1% แรงหนุนภาคการคลังดีขึ้นจาก พ.ร.บ.เงินกู้ฉบับใหม่

วันที่ 23 มิถุนายน 2564 นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ธปท.ได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจ เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจยังเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญจากการกลายพันธุ์ของไวรัส ส่งผลให้เศรษฐกิจมีทิศทางชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ธปท.จึงได้ปรับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2564 จากเดิมอยู่ที่ 3% เหลืออยู่ที่ 1.8% และในปี 2565 จากเดิมอยู่ที่ 4.7% ลงมาอยู่ที่ 3.9%

ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส

ทั้งนี้ โจทย์สำคัญจะเป็นเรื่องการจัดหาและการกระจายวัคซีนที่เหมาะสมและเพียงพอและทันการณ์ หากการระบาดยังคงยืดเยื้อจะกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ปรับลดลง อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้าระยะ 4-5 เดือนหลังจากนี้ จะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจไทยจากการแข่งขันระหว่างการจัดหาวัคซีนและการกลายพันธุ์ของไวรัส ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจครัวเรือนและภาคธุรกิจให้มีความเปราะบางมากขึ้นในกลุ่มที่มีสายป่านสั้น

โดย ธปท.จะเร่งผลักดันมาตรการที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม หากไทยสามารถก้าวข้ามการระบาดของโควิด-19 ได้ มองว่าเศรษฐกิจจะมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น เช่น การบริโภคที่ปรับดีขึ้นหลังจากอั้นมานาน หรือนักท่องเที่ยวที่จะกลับมา

สำหรับประเด็นความเสี่ยงที่คณะกรรมการฯ จับตาใกล้ชิดจากความเสี่ยงของการระบาดทั้งในและต่างประเทศ คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งจากประมาณการในเดือนมีนาคมอยู่กว่า 3 ล้านคน ปัจจุบันปรับเหลือ 7 แสนคน และจำนวน 10 ล้านคนในปี 65 ยังคงติดตามใกล้ชิดหากการระบาดยังคงยืดเยื้อและมาตรการจำกัดการเดินทางในต่างประเทศ อาจมีความเสี่ยงด้านต่ำต่อตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวอาจจะปรับลดลงได้ และผลต่ออุปสงค์ในประเทศและการบริโภคเอกชน

และการระบาดระลอก 3 ที่ยืดเยื้อกระทบต่อตลาดแรงงานเป็นสำคัญ เนื่องจากดูแนวโน้มตัวเลขล่าสุดเมื่อเทียบกับวิกฤตการเงิน วิกฤตน้ำท่วม และการเมือง พบว่าการฟื้นตัวของตลาดแรงงานรอบนี้ช้ากว่ารอบอื่นและเปราะบางมากขึ้น โดยการฟื้นตัวเป็นไปในลักษณะ W Shaped โดยเด็กจบใหม่หางานทำยากขึ้นมีสัญญาณเพิ่มขึ้น รวมถึงตัวเลขผู้ว่างงานระยะยาวมากกว่า 1 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 6 แสนคน ซึ่งอาจสร้างแผลเป็น (Scarring effects) และอาจแก้ไขได้ยาก หากไม่ดูแลอย่างทันท่วงที

สำหรับประเด็นแนวโน้มเงินเฟ้อในต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมาที่ปรับเพิ่มขึ้นมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐ และจีน ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้น จึงมีความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นของสหรัฐ ที่อาจจะกระทบต่อไทยนั้น มองว่าคงมีผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากตะกร้า CPI มีการนำเข้าสัดส่วนเพียง 16% และราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นไม่มาก ดังนั้น มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะเพิ่มขึ้นชั่วคราวในไตรมาสที่ 2 จากฐานที่ต่ำก่อนที่จะโน้มลดลงมาอยู่ใกล้ขอบล่างของกรอบเป้าหมาย

“ปัจจัยการปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจครั้งนี้ มีทั้งปัจจัยลบและบวก โดยปัจจัยเสี่ยงจะเป็นเรื่องการระบาดระลอก 3 ซึ่งกระทบอุปสงค์ภายในประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่น้อยกว่าคาดจากการระบาดทั้งในและต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกเรามีแรงกระตุ้นทางการคลังมากขึ้นจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ฉบับใหม่ และเศรษฐกิจคู่ค้าที่ดีขึ้นส่งผลต่อการส่งออก โดย ธปท.ได้ปรับคาดการณ์ตัวเลขส่งออกเพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 10% เป็น 17.1% มาจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้นและการนำเข้าเพื่อผลิตส่งออกดีขึ้น และดุลบัญชีเดินสะพัดปรับจากเกินดุลมาเป็นขาดดุลในปีนี้ แต่ในปี 65 จะกลับมาเกินดุลตามนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับมา”