ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังเจ้าหน้าที่เฟดคาดเงินเฟ้อสหรัฐพุ่ง

ค่าใช้จ่าย-ดอลลาร์-ค่าฟี-ค่าธรรมเนียม
Photo by Karolina Grabowska from Pexels

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/6) ที่ระดับ 31.86/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (23/6) ที่ระดับ 31.83/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าเทียบกับเงินสกุลหลัก หลังจากนายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอดแลนตากล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่งถึง 7% ในปีนี้ และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะดีดตัวขึ้นเหนือเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%

ซึ่งจากตัวเลขคาดการณ์เหล่านี้ทำให้เขามองว่า เฟดอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 2565 อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์แข็งได้ค่าไม่มานัก เนื่องจากการแสดงความเห็นของนายบอสติกขัดแย้งกับความเห็นของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดที่ออกมาแถลงก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังถูกกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ

โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านให่ลดลง 5.9% สู่ระบ 769,000 ยูนิต ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 870,000 ยูนิต โดยยอดขายบ้านใหม่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัสดุก่อสร้างและราคาบ้านที่สูงขึ้น ทางด้านไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 63.9 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 68.7 ในเดือนพฤษภาคม

สำหรับปัจจัยในประเทศ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ แถลงภาะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนพฤษภาคม 2564 โดยการส่งออกมีมูลค่า 26,057 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 41.59% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี อย่างไรก็ตาม เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัยแล้ว การส่งออกขยายตัว 45.87% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สะท้อนการเติบโตที่ฟื้นตัวจากภาคเศรษฐกิจจริง ด้านการนำเข้ามีมูลค่า 22,261 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 63.54% ส่งผลให้เดือนพฤษภาคมเกินดุลการค้า 795 ล้านดอลลาร์ สำหรับภาครวมในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-พฤษภาคม) การส่งออกมีมูลค่า 108,635 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.78% การนำเข้า มีมูลค่า 107,141 ล้านล้านดอลลาร์ ขยายตัว 21.52% ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ ไทยเกินดุลการค้า 1,494 ล้านดอลลาร์ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.83-31.97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (24/6) ที่ระดับ 1.1930/32 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (23/6) ที่ระดับ 1.1935/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางวามวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อซึ่งได้บดบังปัจจัยบวกจากการเปิดเผยข้อมูลทางเศรษฐกิจของยุโรปที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ผลสำรวจบ่งชี้ว่าธุรกิจของยูโรโซนขยายตัวเร็วที่สุดในรอบ 15 ปีในเดือนมิถุนายน เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทำให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นและหนุนภาคบริการขยายตัว แต่ก็ทำให้แรงกดดันด้านราคาปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้สถาบัน Markit ได้เปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของอังกฤษประจำเดือนมิถุนายนที่ระดับ 64.2 ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 64.0

สวนทางกับตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของอังกฤษประจำเดือนมิถุนายนที่ระดับ 61.7 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 63.00 ในขณะที่นักลงทุนจับตารายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินแห่งสหราชอาณาจักรที่จะมีขึ้นในคืนวันนี้ (24/6) โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1919-1.1946 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1941/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/6) ที่ระดับ 111.03/05 ที่ระดับ 111.03/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (23/6) ที่ระดับ 110.93/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ญี่ปุ่นเปิดเผยความคืบหน้าแผนการฉีดวัคซีน โดยล่าสุดได้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เกิน 1 ล้านโดสภายในวันเดียว

ซึ่งบรรลุเป้าหมายของนายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยการเร่งการฉีดวัคซีนมีขึ้นท่ามกลางแรงกดดันทางการเมืองก่อนการแข่งขันกีฬาโตเกียวโอลิมปิกและการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศ และนายซูงะยังเปิดเผยอีกด้วยว่า เขาหวังว่าจะบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนในช่วงกลางเดือนถึงปลายเดือนมิถุนายนนี้ และจะฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนทุกคนทีเต็มใจเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ภายในเดือนตุลาคม หรือพฤศจิกายน โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.77-111.11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.84/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินแห่งสหราชอาณาจักร (24/6), ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมของสหรัฐ ไตรมาสต่อไตรมาส (24/6), ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานสหรัฐ (24/6), ดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐ (25/6) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ (25/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.10/+0.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศ อยู่ที่ 3.30/6.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ