ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าจากความคาดหวังเรื่องดอกเบี้ย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 21-25 มิถุนายน 2564

วันที่ 25 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (21/6) ที่ระดับ 31.51/52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/6) ที่ระดับ 31.45/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าเทียบเงินสกุลหลัก หลังจากเมื่อวันศุกร์ (18/6) ที่ผ่านมา

นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกมากล่าวถึงแนวโน้มที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ โดยอย่างเร็วที่สุดในปลายปี 2565 เพื่อที่จะควบคุมเงินเฟ้อที่มีโอกาสแตะถึงระดับ 3% ในปี 2564 นี้ และยังคาดการณ์ว่าระดับเงินเฟ้อสหรัฐจะอยู่ที่ 2.5% จนถึงปี 2565 ซึ่งสูงกว่าระดับเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%

ทั้งนี้ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของสหรัฐที่ผ่านมา กรรมการเฟดจำนวน 13 จาก 18 รายคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปลายปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่ได้ส่งสัญญาณในเดือนมีนาคมว่า เฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567

นอกจากนี้ เฟดยังคาดว่า จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2566 อย่างไรก็ดี ขณะเดียวกันตลาดยังจับตาถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดอีกหลายรายในสัปดาห์นี้เกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ หลังจากที่นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในปีหน้าเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

ด้านนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดได้มีการแถลงการณ์ต่อคณะอนุกรรมการว่าด้วยวิกฤตการณ์โควิด-19 ประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐว่า เฟดมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนตลาดแรงงานให้ฟื้นตัวเป็นวงกว้างและครอบคลุม โดยเฟดจะไม่ใช้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันเป็นแรงผลักดันให้เฟดต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ววันนี้

เนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงในปี 2564 นั้นเป็นผลกระทบโดยตรงจากการเปิดเศรษฐกิจของสหรัฐ หลังจากการมีการ Lock down ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา โดยเฟดจะรอให้มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น หรือปัญหาอื่น ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจกำหนดปรับทิศทางอัตราดอกเบี้ย

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งสหรัฐ ได้มีการเปิดเผยตัวเลขยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐประจำเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 5.80 ล้านยูนิต ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 5.71 ล้านยูนิต ค่าเงินดอลลาร์ยังปรับตัวแข็งค่าขึ้นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าเทียบกับเงินสกุลหลัก หลังจากนายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอดแลนตากล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่งถึง 7% ในปีนี้ และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะดีดตัวขึ้นเหนือเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%

ซึ่งจากตัวเลขคาดการณ์เหล่านี้ทำให้เขามองว่า เฟดอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 2565 อย่างไรก็ตามการแข็งค่ายังเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากการแสดงความเห็นของนายบอสติกขัดแย้งกับความเห็นของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดที่ออกมาแถลงก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ดอลลาร์ยังถูกกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ

โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ลดลง 5.9% สู่ระดับ 769,000 ยูนิตในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 870,000 ยูนิต โดยยอดขายบ้านใหม่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง และราคาบ้านที่สูงขึ้น ทางด้านไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 63.9 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 68.7 ในเดือนพฤษภาคม

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ วันอาทิตย์ (20/6) ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศ ข้อกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 24) ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีสาระสำคัญคือการคลายล็อกทุกพื้นที่ และปรับพื้นที่ควบคุมตามสถานการณ์ใหม่ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เหลือ 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรีและสมุทรปราการ

นอกจากนี้นักลงทุนยังคงจับตาดูตัวเลขความคืบหน้าของผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ภายในประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สอดคล้องตามเป้าหมายของนายกรัฐมนตรี ที่มีการตั้งเป้าเปิดประเทศภายในเวลา 120 วัน โดยคาดว่าจะต้องมีการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชากรอย่างน้อย 50 ล้านคน ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในระดับที่ปลอดภัยสำหรับการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี ในการประชุมนโยบายทางการเงินของไทยที่เสร็จสิ้นในช่วงบ่ายวันพุธที่ผ่านมา (23/6) โดย กนง.มองว่าสถานการณ์โควิดระบาดระลอก 3 ในไทย ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าลงและเติบโตไม่ทั่วถึง ขณะที่ระยะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่อีก

ทั้งนี้ กนง.ได้ให้ความเห็นว่ามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ จะส่งผลดีกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ กนง.ได้มีการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทย คาดว่าจะขยายตัว 1.8% และ 3.9% ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ โดยปรับลดลงจากประมาณการเดิม ตามแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลง และอุปสงค์ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดดระลอกที่ 3 อีกทั้งด้านตลาดแรงงาน โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ มีความเปราะบางมากขึ้นและอาจฟื้นตัวได้ช้า

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนพฤษภาคม 2564 โดยการส่งออกมีมูลค่า 23,057 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 41.59% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี อย่างไรก็ตาม เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัยแล้ว การส่งออกขยายตัว 45.87% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สะท้อนการเติบโตที่ฟื้นตัวจากภาคเศรษฐกิจจริง ด้านการนำเข้ามีมูลค่า 22,261 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 63.54% ส่งผลให้เดือนพฤษภาคม เกินดุลการค้า 795 ล้านดอลลาร์

สำหรับภาพรวมในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-พฤษภาคม) การส่งออกมีมูลค่า 108,635 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.78% การนำเข้ามีมูลค่า 107.141 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 21.52% ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ ไทยเกินดุลการค้า 1,494 ล้านดอลลาร์ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.45-31.98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (25/6) ที่ระดับ 31.74/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันจันทร์นี้ (21/6) ที่ระดับ 1.1869/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อย จากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/6) ที่ระดับ 1.1860/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าหลังจากวันศุกร์ (18/6) ที่ผ่านมา สถาบัน Destatis ได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตของเยอรมันประจำเดือนพฤษภาคม ที่ระดับ 1.5% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 0.7%

ทั้งนี้รัฐบาลอังกฤษกำลังพิจารณาแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดสแล้ว เพื่อสนับสนุนให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้อีกครั้ง โดยอนุญาตให้ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงปานกลางหรือโซนสีเหลือง ซึ่งฉีดวัคซีนครบทั้งสองโดสแล้ว ไม่ต้องเข้ารับการกักตัวเมื่อเดินทางมาถึงอังกฤษ

แต่อย่างไรก็ตาม นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวว่า รัฐบาลยังไม่มีการตัดสินใจที่ชัดเจนในประเด็นดังกล่าว อย่างไรก็ดีค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนหลังนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่าเศรษฐกิจยูโรโซนอาจฟื้นตัวเร็วกว่าคาด เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมาทำการใช้จ่ายอีกครั้ง แต่เธอย้ำว่า ECB จะยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป โดยความเห็นของนางลาการ์ดทำให้ตลาดควายความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทั้งนี้ระห่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1846-1.1921 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (25/6) ที่ระดับ 1.1944/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (21/6) ที่ระดับ 110.21/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/6) ที่ระดับ 110.19/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยนายคัดสึโนบุ คาโตะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ส่งสัญญาณว่า การแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิก อาจจัดโดยไม่มีผู้ชม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงรุนแรง

การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นโดยที่ญี่ปุ่นมีเวลาเหลือเพียง 1 เดือนก่อนที่การแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกจะเริ่มต้นขึ้นวันที่ 23 กรกฎาคม นี้ ขณะที่ Markit ได้เปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของญี่ปุ่นประจำเดือนมิถุนายนที่ระดับ 51.5 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 53.2 นอกจากนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมเดือนเมษายน โดยระบุว่า กรรมการบริหารของ BOJ มีความเห็นตรงกันเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่บรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วได้นำมาใช้นั้น อาจทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นและเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ตลาดคาดการณ์ว่า BOJ จะยังคงนโยบายการเงินที่ระดับปัจจุบันต่อไปอีกช่วงเวลาหนึ่ง โดยคาดหวังว่านโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษและโครงการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ BOJ นำมาใช้อยู่ในขณะนี้ จะช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวในระดับปานกลางอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตาเรื่องความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนประชากรและผลลัพธ์ของโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในญี่ปุ่น ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.70-111.11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (25/6) ที่ระดับ 110.77/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ