“อาคม” ชี้แบงก์รัฐ มีสินเชื่อช่วยเอสเอ็มอีรวมกว่า 1 แสนล้านบาท

รมว.คลัง ชี้ครม. ไฟเขียวขยายระยะเวลามาตรการทางการเงินของแบงก์รัฐ “ออมสิน-ธ.ก.ส.-ธพว.” รวมกว่า 1 แสนล้านบาท พร้อมยืดเวลามาตรการพักชำระหนี้-ลดดอกเบี้ย-ขยายเวลาชำระหนี้ จนถึง 31 ธ.ค. 64

วันที่ 29 มิถุนายน 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลามาตรการทางการเงิน จากธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยขยายระยะเวลาในการขอสินเชื่อออกไปถึงสิ้นปี 2564 พร้อมกันนี้ สถาบันการเงินของรัฐ 7 แห่ง ยังได้ขยายมาตรการพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย หรือขยายเวลาชำระหนี้ เป็นต้น ไปจนถึง 31 ธ.ค.64

“ทั้ง 7 สถาบันการเงินของรัฐยังคงมีวงเงินสินเชื่อเหลือสำหรับให้การช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกรวม 104,000 ล้านบาท โดยมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของ 7 แบงก์รัฐจะขยายไปถึงสิ้นปี 64 ซึ่งบางมาตรการ เช่น สินเชื่อ อาจต่อเนื่องไปจนถึงปี 65 ประชาชนที่สนใจสามารถเข้าไปสอบถามรายละเอียดที่สถาบันการเงินของรัฐได้”

ขณะที่ภาพรวมตัวเลขหนี้เสีย หรือ NPL ตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน อยู่ที่ 3.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ขยับขึ้นมามาก เนื่องจากในช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัส ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ขอให้สถาบันการเงินออกมาตรการดูแลลูกหนี้ เพื่อไม่ให้เป็นหนี้เสีย และเพื่อไม่ให้กระทบกับเครดิตบูโร

นอกจากนี้ ยังได้รายงานความคืบหน้าผลการดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ผ่านสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง ให้ที่ประชุม ครม. ได้รับทราบ โดยได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ไปแล้ว 7.56 ล้านราย วงเงินรวม 3.64 ล้านบาท โดยขณะนี้ยังมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการอีก จำนวน 3.23 ล้านราย วงเงินรวม 1.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้รายย่อย 3.12 ล้านราย วงเงินรวม 1.18 ล้านล้านบาท และลูกหนี้ที่เป็นภาคธุรกิจ 21,310 ราย วงเงินรวม 87,948 ล้านบาท

ส่วนมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ตาม พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ ของ ธปท. วงเงินโครงการ 250,000 ล้านบาท ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวน 13,435 ราย วงเงินรวม 40,764 ล้านบาท ยังคงเหลือวงเงินโครงการอีก 209,236 ล้านบาท ขณะที่มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงินโครงการ 1 แสนล้านบาท อนุมัติเชื่อไปแล้ว 7 ราย วงเงินรวม 922 ล้านบาท ยังคงเหลือวงเงินอีก 99,078 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า ในส่วนของมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ จำนวนที่ปล่อยสินเชื่อล่าสุดเพียง 7 ราย ซึ่งยังน้อย เนื่องจากเงื่อนไขอาจตึงเกินไป ซึ่งจะมีการหารือร่วมกับ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงการผ่อนปรนเกณฑ์ต่างๆ ขณะที่สินเชื่อฟื้นฟูฯ ของ ธปท. ก็ยังปล่อยสินเชื่อได้ต่อเนื่อง แต่อาจไม่หวือหวา เนื่องจากผู้ประกอบการอาจมาขอสินเชื่อโดยตรงจากแบงก์รัฐมากกว่า จึงทำให้วงเงินของ ธปท. ปรับลดลงไม่มาก