ผู้ว่าฯ ธปท.ชี้ไม่ใช่ SMEs ทุกรายจะได้สินเชื่อฟื้นฟู ปล่อยกู้แล้ว 5 หมื่นล้าน

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ว่าไม่ใช่เอสเอ็มอีทุกรายจะต้องได้สินเชื่อฟื้นฟูเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ ล่าสุดปล่อยกู้แล้ว 5 หมื่นล้านบาท

วันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ “เปิดใจ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เบื้องลึกภารกิจฟื้นฟูเศรษฐกิจของ ธปท.” ในวารสาร BOT พระสยาม โดยเนื้อหาตอนหนึ่ง ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงสินเชื่อฟื้นฟูว่า

แม้เป้าหมายของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูจะมุ่งเน้นให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกรายจะต้องได้สินเชื่อฟื้นฟู โดยกลุ่มที่ ธปท.ต้องการให้เข้าถึงมาตรการนี้มากที่สุด ได้แก่ SMEs ที่เมื่อได้รับสินเชื่อไปเป็นทุนหมุนเวียนแล้ว จะสามารถพยุงธุรกิจให้อยู่รอดไปจนช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกลับมา

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

“ไม่ใช่ทุกธุรกิจที่ได้สินเชื่อไปแล้วจะรอด เราต้องยอมรับความจริงว่า SMEs มีทั้งกลุ่มที่มีโอกาสรอดน้อยมาก ซึ่งเราเรียกกันว่าลูกหนี้กลุ่มสีแดง และ SMEs กลุ่มที่ควรจะรอดถ้าได้สินเชื่อ หรือลูกหนี้กลุ่มสีเหลือง ซึ่งหากปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูที่มีอยู่จำกัดให้ทุกกลุ่ม อาจทำให้กลุ่มที่ควรจะรอดพลอยไม่รอดไปด้วย เพราะทุกอย่างมีต้นทุน มีค่าเสียโอกาส”

ส่วนมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing)” กลไกใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบแรง ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่ากลุ่มอื่น และมีภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระ แต่ไม่สามารถใช้กลไกการปรับโครงสร้างหนี้ปกติได้ โดยเจตนารมณ์ของมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ คือ การช่วยลดภาระให้กับลูกหนี้ให้โอกาสลูกหนี้ในการประกอบธุรกิจต่อ ซึ่งจะช่วยการจ้างงาน และช่วยให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการต่อได้ทันทีหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

นอกจากนี้ ยังช่วยลดความเสี่ยงที่ทรัพย์สินจะถูกขายทอดตลาดในราคาที่ต่ำเกินไป (fire sale) ซึ่งจะกระทบต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ในภาพรวม และยังเป็นการป้องกันการฉวยโอกาสกดราคาไล่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ของนายทุนอีกด้วย

ภาพจาก เปิดใจ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เบื้องลึกภารกิจฟื้นฟูเศรษฐกิจของ ธปท.

“การปรับโครงสร้างหนี้เหมาะกับลูกหนี้ที่ยังมีรายได้ แต่อาจลดลง ซึ่งถ้าคุณเป็นเจ้าของโรงแรมในภูเก็ตหรือสมุยที่รายได้มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ช่วงปีที่ผ่านมาแทบไม่มีรายได้ ดังนั้น ถึงจะปรับโครงสร้างหนี้ ลดยอดผ่อนชำระหนี้ลงไป ลูกหนี้ก็ไม่มีเงินมาจ่ายอยู่ดี มาตรการนี้จะปิดช่องว่างให้ SMEs ที่มีปัญหารายได้หายไปจนไม่อาจปรับโครงสร้างหนี้ได้ โดยสามารถตีโอนทรัพย์สินที่อยู่กับสถาบันการเงินเพื่อหยุดภาระการชำระหนี้ และมีสิทธิ์ซื้อคืนทรัพย์สินในราคาตีโอนบวกกับค่าดูแลรักษา (carrying cost) ในระยะเวลา 3-5 ปี นอกจากนี้ ยังมีสิทธิเช่าทรัพย์สินกลับไปทำธุรกิจในราคาไม่แพงเกินไป และสามารถนำค่าเช่าไปหักราคาที่จะซื้อคืนได้” ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ

ภาพจาก เปิดใจ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เบื้องลึกภารกิจฟื้นฟูเศรษฐกิจของ ธปท.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้าโครงการสินเชื่อฟื้นฟูของแบงก์ชาติ อัพเดตถึงวันที่ 21 มิ.ย. 2564 มียอดอนุมัติสินเชื่อแล้ว 50,948 ล้านบาท จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 16,811 ราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ย 3 ล้านบาท/ราย ส่วนความคืบหน้าโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอน 937.47 ล้านบาท จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 10 ราย