เฟดขึ้นดอกเบี้ย ความเสี่ยงโควิดในไทย ผลักดันเงินบาทอ่อนค่า

นั่งคุยห้องค้า
พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, กฤติกา บุญสร้าง
ธนาคารกสิกรไทย

 

เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยแกว่งตัวใกล้ระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่เงินบาทอ่อนค่าที่สุดตั้งแต่พฤษภาคมปีที่แล้ว เราพบว่ามีทั้งปัจจัยภายนอกประเทศและความเสี่ยงภายในประเทศที่ผลักดันให้เงินบาทอ่อนค่าในเวลานี้

ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งเปลี่ยนมุมมองมาสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้เป็นผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ผลการประชุมนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาชี้ว่า คณะกรรมการส่วนใหญ่สนับสนุนให้ขึ้นดอกเบี้ยถึงสองครั้งภายในปี 2023 จากเดิมที่มองว่าจะคงดอกเบี้ยไปตลอด 3 ปีข้างหน้า โดยเฟดประเมินเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐ ที่เร่งตัวมากกว่าที่เคยคาด

โดยคาดเงินเฟ้อในปีนี้จะเพิ่มขึ้นไปเฉลี่ยถึง 3.4% จากเดิมที่คาด 2.4% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟดที่ 2% ส่งผลให้ตลาดประเมินว่านี่เป็นสัญญาณว่าเฟดจะลดขนาดการซื้อสินทรัพย์เร็วกว่าคาดการณ์ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เฟดยังคงยืนยันว่าเงินเฟ้อที่ร้อนแรงมีแนวโน้มจะชะลอลงในระยะข้างหน้า และเรามองว่า จุดเริ่มต้นของการลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ยังมีแนวโน้มขึ้นอยู่กับเป้าหมายนโยบายการเงินอีกประการหนึ่งด้วย คือ ตลาดแรงงาน ซึ่งปัจจุบันยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

ประกอบกับภาระหนี้สาธารณะของสหรัฐ ที่อยู่ในระดับสูง การเริ่มต้นวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยที่รวดเร็วเกินไปจึงเสี่ยงกระทบภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลและจังหวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ

ด้านปัจจัยภายในประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 ใหม่รายวันที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางมิถุนายน ทำให้ไทยถูกมองว่า เข้าสู่การระบาดของไวรัสระลอกที่ 4 แล้ว สะท้อนถึงความเสี่ยงที่การระบาดรุนแรงขึ้นและใช้เวลาควบคุมที่ยาวนานกว่าเดิม อีกทั้งยังเสี่ยงกระทบภาคการท่องเที่ยว แม้รัฐบาลจะไม่เลื่อนการเปิดประเทศ จากวันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป โดยเริ่มต้นจากจังหวัดภูเก็ต

คำสั่งปิดพื้นที่ก่อสร้าง งดการรับประทานอาหารที่ร้าน และงดการรวมกลุ่มจำนวนมากในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเวลา 1 เดือน ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคบริการ และรายได้ของแรงงาน รวมถึงภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในไทย ปัจจัยดังกล่าวกระทบต่อความเชื่อมั่นของเงินบาท และทำให้เงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดในภูมิภาค

เราพบว่า ยังมีแรงต้านทานต่อเงินบาทที่อ่อนค่า ทั้งจากแนวโน้มการถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากในรูปเงินตราต่างประเทศหรือบัญชี FCD ของผู้ส่งออกเพื่อแลกกลับมาเป็นเงินบาทในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่า ประกอบกับทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่เริ่มลดลงตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 18 มิถุนายน อยู่ในระดับต่ำสุดตั้งแต่ปลายมีนาคม ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาเสถียรภาพเงินบาทด้วย

ทั้งนี้ เรายังคงประเมินว่า ตลาดได้รับรู้ปัจจัยลบจากการระบาดที่รุนแรงขึ้นและการปิดเมืองไปมากแล้ว แม้เราจะมองว่า การเปิดประเทศจะไม่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวกลับเข้าสู่ภาวะปกติใน 1-2 ปีข้างหน้า แต่จะทำให้มีรายได้เข้าสู่ประเทศมากขึ้นเมื่อเทียบกับปัจจุบัน และเป็นปัจจัยให้ดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งปัจจุบันขาดดุล กลับมาเกินดุลในช่วงครึ่งหลังของปีได้


นอกจากนี้ สภาพคล่องในตลาดการเงินโลกซึ่งเกิดจากมาตรการซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลางหลัก ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว จะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่าของเงินสกุลเอเชียและเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี