“เอเซีย พลัส” จัดพอร์ตครึ่งปีหลัง จับตาวัคซีน “ตัวช่วย/ตัวฉุด” หุ้นไทย

หุ้น

มองกันว่าตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น แต่การปรับตัวขึ้นทุกรอบก็ต้องระมัดระวังการปรับฐาน โดยช่วงนี้เริ่มเห็นสัญญาณราคาหุ้นวิ่งทะลุกรอบ (breakout) ดัชนี SET index จากบริเวณ 1,606 จุด ไประดับ 1,644 จุด แต่ส่วนใหญ่กระจุกตัวมากกว่ากระจายตัว

สะท้อนถึงความอ่อนแอของตลาด ขณะที่ครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากดดัน ล่าสุด ทีมบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด ได้มาอัพเดตสถานการณ์ให้แก่นักลงทุน

หุ้นไทย Q3 เสี่ยงปรับตัวลง

โดย “ชาญชัย พันทาธนากิจ” ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัสฉายภาพว่า ไตรมาส 3 เป็นช่วงรอยต่อที่สำคัญ ซึ่งเล่นหุ้นได้ค่อนข้างยากกว่าครึ่งปีแรก โดยดัชนี SET index มีโอกาสปรับตัวลงมากกว่าจะวิ่งขึ้น

ซึ่งปัจจัยกดดันหลัก ๆ คือการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เข้มงวด โดยมองเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรก เฟดส่งสัญญาณลดขนาดการเข้าซื้อพันธบัตร (QE tapering) ช่วงที่สอง การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และช่วงที่สาม การลดขนาดงบดุล

“ปัจจัยทั้งหมดล้วนสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นไทย โดยถ้าย้อนไปในช่วงปี 2556 พอเฟดส่งสัญญาณการทำQE tapering ภาพดัชนี SET index ปรับลดลงกว่า 9.6% ดาวน์ไซด์จุดต่ำสุดอยู่ในช่วง QE tapering เริ่มใช้จริงบริเวณ1,390 จุด

และ 30 เดือนหลังจากนั้นเป็นภาพการปรับขึ้นดอกเบี้ย SET index ปรับลดลงกว่า 15% ซึ่งถ้าอิงการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปลายปี 2566 ย้อนหลังกลับมา 30 เดือน นั่นหมายความว่า ในช่วงเดือน ก.ค. 2564 เฟดสามารถส่งสัญญาณทำ QE taperingได้เหมือนกัน ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่สร้างความผันผวนให้ตลาดได้”

อย่างไรก็ดี ประเมินรอบนี้แรงกดดัน SET index ไม่น่าจะแย่เท่ากับรอบก่อน เพราะรอบนี้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) นับตั้งแต่วันที่เฟดประกาศทำ QE tapering ในเดือน มี.ค. 2563

กระทั่งปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยไปประมาณ 3 แสนล้านบาท ต่างจากรอบก่อนที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยมากกว่า 2 แสนล้านบาท ดังนั้นไซซ์จึงต่างกัน ซึ่งมองว่าดาวน์ไซด์ของ SET index รอบนี้บริเวณ 1,514 จุดน่าจะเอาอยู่

กำไร บจ.ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว

ขณะที่ “ภราดร เตียรณปราโมทย์” ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ช่วงไตรมาส 1/2564 มีกำไรกว่า 2.6 แสนล้านบาท เติบโต 135% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนดีกว่าตลาดคาดการณ์สูงมาก

ทำให้นักลงทุนคาดหวังว่าช่วงไตรมาส 2-4 ปีนี้กำไร บจ.มีโอกาสปรับตัวดีขึ้น แต่จริง ๆ แล้วคาดว่ากำไรช่วงที่เหลือของปีเติบโตได้น้อยกว่าไตรมาส 1 ที่เป็นจุดสูงสุดของปีนี้ไปแล้ว

โดยบริษัทประมาณการกำไร บจ.ทั้งปีนี้ที่ 8.05 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากปีก่อน กำไรต่อหุ้น (EPS) อยู่ที่ 71.20 บาทต่อหุ้น ซึ่งช่วงที่เหลือ 9 เดือน (เม.ย.-ธ.ค.) จะเหลือกำไรอีก 5.45 แสนล้านบาท คิดเป็น 68% ของประมาณการทั้งปี หรือตกไตรมาสละ1.8 แสนล้านบาท

“จากฐานกำไรในปี 2563 ที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ทำให้ปีนี้อัตราเติบโตของกำไรมีโอกาสชะลอลง ซึ่งเราคาดการณ์กำไรไตรมาส 2 เติบโต 45%, ไตรมาส 3 เติบโต 7% และไตรมาส 4 ลดลง 7% จากฐานที่สูงขึ้น”

แนะจัดพอร์ตกระจายลงทุน

ส่วน “เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า การลงทุนยังคงให้น้ำหนักส่วนใหญ่ในหุ้นไทย 30% ส่วนหุ้นต่างประเทศ 35% น้ำหนักมากกว่าเพราะภาพเศรษฐกิจน่าจะเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากกว่า ส่วนไทยยังอยู่ในช่วงการแก้ปัญหาการระบาดที่รุนแรงขึ้น

ถัดมาให้น้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ 15% โดยเชื่อว่าภาพตลาดตราสารหนี้จะเห็นทิศทางผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล(bond yield) อยู่ในช่วงขาขึ้น

นอกจากนี้ ให้น้ำหนักลงทุนคริปโทเคอร์เรนซี 3% ถือเป็นสินทรัพย์ตัวใหม่ที่ฝ่ายวิจัยแนะนำ และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นการลงทุนทางเลือกให้น้ำหนักการลงทุนกองรีท และพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ 10% ที่เหลือจัดสรรเป็นเงินสดสำรองประมาณ 7% เพื่อใช้โอกาสเข้าไปลงทุนเพิ่มเติมหากตลาดหุ้นไทยหรือตราสารอื่น ๆ มีการย่อตัวลง

ลุ้นวัคซีน “ตัวช่วย-ตัวฉุด”

นอกจากนี้ “ชาญชัย” ยังกล่าวว่า ช่วงครึ่งปีหลังยังต้องโฟกัสการกระจายวัคซีนในประเทศ เพราะหากเร่งกระจายวัคซีนได้มากขึ้น ภาพของ SET index จะปรับตัวขึ้นไปด้วย แต่ถ้ายังทำได้ช้าอยู่ก็ต้องระวัง ซึ่งหากกำหนดแผนการฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ ก็คือต้องฉีดให้ได้ 4.6 แสนโดสต่อวัน ซึ่งปัจจุบันช้ากว่าเป้า

ดังนั้น ก็ต้องเร่งฉีดเพิ่มเป็น 4.9 แสนโดสต่อวัน แต่ในทางปฏิบัติยังทำไม่ได้

“เรื่องวัคซีน ต้องติดตามพัฒนาการ เพราะเป็นได้ทั้งตัวช่วยและตัวฉุด SET index โดยในเดือน ก.ค. SET index ยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น เพียงแต่อาจต้องระมัดระวังมากขึ้น จากปัจจัยแวดล้อมทั้งนโยบายการเงินของเฟด การกระจายวัคซีน และจำนวนหุ้นที่ราคาเริ่มขึ้นแบบกระจุกตัว

ดังนั้น มีโอกาสจะเข้าสู่ในโหมดการพักฐาน จุดสังเกตหรือจุดเปลี่ยนโมเมนตัมอยู่ที่บริเวณ 1,582 จุด ถ้ายังยืนอยู่ได้ภาพไม่ได้น่ากังวล มีโอกาสขึ้นไปทดสอบแนวต้านเดิมที่ 1,644 จุด แต่ถ้าหลุดลงมาอาจแตะระดับ 1,510 จุด” นายชาญชัยกล่าว

หุ้นไทยช่วงครึ่งปีหลังมีความท้าทายอยู่มาก แต่อาจคาดหวังการเติบโตร้อนแรงเหมือนครึ่งปีแรกไม่ได้ ซึ่งนักลงทุนต้องติดตามปัจจัยต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด