ค่าเงินบาทยังอ่อนค่า จากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ

FX-เงินบาท-ธนบัตร-ดอลลาร์

ค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ ขณะที่ยอดติดเชื้อในประเทศและการล็อกดาวน์-คุมเข้ม 10 จังหวัดยังกดดันค่าเงินบาท ด้านแบงก์ชาติชี้ กว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวต้องรอไปจนถึงไตรมาส 1 ปี 2566 โน่น

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (28/6) ที่ระดับ 31.85/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (25/6) ที่ระดับ 31.78/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก แม้ว่าเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา (25/6) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้เปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานของสหรัฐประจำเดือนพฤษภาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 0.6%

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส ได้เปิดเผยผลสำรวจที่ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตรัฐเท็กซัสดีดตัวสู่ระดับ 29.4 จุดในเดือนมิถุนายน จากระดับ 15.7 ในเดือนพฤษภาคม โดยดัชนีภาคการผลิตส่งสัญญาณขยายตัวนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว หลังจากทรุดตัวลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนเมษายนปีที่แล้ว จากผลกระทบของแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้จากตัวเลขบ่งชี้เงินเฟ้อที่ออกมายังไม่ได้ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงแต่อย่างใด ขณะที่นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดการณ์ว่า เฟดอาจจำเป็นต้องเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อสินทรัพย์อย่างเร็วที่สุดในปีนี้ เพื่อเปิดทางห้เฟดมีความพร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปลายปีหน้า

พร้อมทั้งกล่าวว่าอัตราว่างงานของสหรัฐจะต้องปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ และอัตราเงินเฟ้อจะต้องอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่เฟดจะพิจารณาอย่างจริงจังเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2565

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐปรับตัวขึ้น 14.6% ในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 30 ปี จากระดับ 13.3% ในเดือน มี.ค. นอกจากนี้ผลสำรวจของ Conference Board ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 127.3 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเดือน ก.พ. 2563 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 119.0

นอกจากนี้รายงานการจ้างงานของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 692,000 ตำแหน่งในเดือนมิถุนายน ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 550,000 ตำแหน่ง แต่น้อยกว่าตัวเลข 886,000 ตำแหน่งของเดือนพฤษภาคม ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในเขตชิคาโกอยู่ที่ระดับ 66.1 ในเดือนมิถุนายน ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 70.0 และต่ำกว่าเดือนพฤษภาคมที่ระดับ 75.2

และสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ เปิดเผยว่าดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.0% แตะระดับ 114.7 ในเดือนพฤษภาคม สวนทางการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะหดตัวลง 0.8%

อย่างไรก็ตามนักลงทุนจับตาดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้ (2/7) โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐจะเพิ่มขึ้น 683,000 ตำแหน่งในเดือนมิถุนายน โดยปรับตัวสูงกว่าในเดือนพฤษภาคมที่เพิ่มขึ้นเพียง 559,000 ตำแหน่ง

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเพิ่มเติม สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ได้เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตซึ่งปรับตัวสู่ระดับ 60.6 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งต่ำกว่าระดับคาดการณ์ที่ 61.0 หลังจากแตะระดับ 61.2 ในเดือนพฤษภาคม

สำหรับปัจจัยภายในประเทศจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ประกอบกับมาตรการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ยกระดับการคุมเข้มโควิดที่บังคับใช้กับพื้นที่ 10 จังหวัด ยังคงเป็นปัจจัยลบที่กดดันค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง

ด้านนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวในงานเสวนา “ฟ้าหลังฝน มิติใหม่ท่องเที่ยวไทย” โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว และอาจจะต้องรอถึงไตรมาส 1 ปี 2566 กว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เท่ากับในระดับที่ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19

เนื่องจากขณะนี้ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้รัฐบาลต้องออกมาตรการเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งถือเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบอย่างมากกับภาคการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและยาวนาน จากการออกใช้มาตรการเพื่อยับยั้งการระบาดที่รุนแรงขึ้น

ขณะที่การเร่งการฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง พึ่งจะเริ่มดำเนินการได้เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2564 โดยผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศปค.ศบค.) ยอมรับว่าอาจเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอก 4 เนื่องจากสายพันธุ์เดลต้าสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็ว ถึงแม้จะมีการฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม

โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.08-32.28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (25/6) ที่ระดับ 32.20/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันจันทร์นี้ (28/6) ที่ระดับ 1.1931/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อย จากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (25/6) ที่ระดับ 1.1937/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทั้งนี้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (25/6) สถาบัน Destatis ได้เปิดเผยดัชนีราคาสินค้าส่งออกของเยอรมนี ประจำเดือนพฤษภาคมปรับตัวเพิ่ม 1.7% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 1.3%

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจยูโรโซนพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 21 ปีในเดือนมิถุนายน เนื่องจากโครงการฉีดวัคซีนป้อกันโรคโควิด-19 ที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องได้สนับสนุนให้มีการเปิดเศรษฐกิจในหลายประเทศ หลังคณะกรรมาธิการยุโรปเปิดเผยในวันอังคาร (29/6) ว่า ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในยูโรโซนเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 117.9 ในเดือนมิถุนายน จาก 114.5 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน

สำหรับการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงปลายสัปดาห์ ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซนอยู่ที่ 1.90% ในเดือนมิถุนายนตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ แต่ปรับตัวลงจากระดับ 2.0% ในเดือนพฤษภาคม อัตราการว่างงานของเยอรมนีลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม สู่ระดับ 5.7% ในเดือนมิถุนายน ตัวเลขผู้ว่างงานลดลง 74,000 คนสู่ระดับ 2.614 ล้านคน

ซึ่งนับว่าเป็นการลดลงมากที่สุดของตัวเลขเดือนมิถุนายนในรอบ 10 ปี และดัชนียอดขายปลีกของเยอรมนีอยู่ที่ 4.2% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 5.0%

ช่วงปลายสัปดาห์ค่าเงินยูโรได้รับแรงกดดัน หลังนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจของยูโรโซนอาจรอดพ้นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ก็ยังเผชิญความเสี่ยงจากการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ อยู่ โดยเฉพาะสายพันธ์เดลต้า

ขณะเดียวกัน ECB กำลังเริ่มต้นหารือว่าจะปรับลดโครงการเข้าซื้อพันธบัตรครั้งใหญ่หรือไม่ โดยผู้กำหนดนโยบายในแต่ละประเทศนั้นยังมีความเห็นไม่สอดคล้องกัน ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1820-1.1852 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (25/6) ที่ระดับ 1.1828/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (28/6) ที่ระดับ 110.69/71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (25/6) ที่ระดับ 110.75/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ค่าเงินเยนยังเคลื่อนไหวในเชิงอ่อนค่าหลังนักลงทุนยังคงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในญี่ปุ่น

โดยในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (27/6) นายฮิเดมาสะ นาคามูระ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการหลักของการแข่งโตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิกได้เปิดเผยว่า นักกีฬาและตัวแทนที่เข้าร่วมการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิก ควรจะต้องแยกกักตัวในทันทีหากเดินทางมาถึงญี่ปุ่นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

โดยข้อเสนอดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่สมาชิกทีมโอลิมปิก 2 รายจากทั้งหมด 9 รายของทีมชาติยูกันดามีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวกหลังจากเดินทางถึงญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามในวันอังคาร (29/6) ญี่ปุ่นได้มีการเปิดเผยยอดค้าปลีกที่พุ่งขึ้น 8.2% ในเดือนพฤษภาคมเมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะขยายตัว 7.9%

ยอดค้าปลีกของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเกินคาดเนื่องจากภาคครัวเรือนกลับมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่แนวโน้มการบริโภคก็ยังคงอ่อนแอโดยถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ขณะที่กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมปรับตัวลง 5.9% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์และบรรดาผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมได้พากันปรับลดการผลิต อันเป็นผลมาจากปัญหาขาดแคลนชิปทั่วโลก

ข้อมูลของกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นยังระบุว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลงนั้น ถือเป็นการปรับตัวลงที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ดิ่งลง 10.5% ในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการที่รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งแรกเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สำหรับการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงปลายสัปดาห์ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่นในไตรมาส 2 พุ่งขึ้นแตะระดับ 14 จากระดับ 5 ในไตรมาส 1 ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 4 ไตรมาส

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นในไตรมาส 2 ยังเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 แต่ดัชนียังคงต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ระดับ 17 ส่วนรายจ่ายลงทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในไตรมาส 2 อยู่ที่ระดับ 9.6% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 7.2% และสูงกว่าไตรมาส 1 ที่ระดับ 3.0%

อย่างไรก็ตามยอดผู้ติดเชื้อในกรุงโตเกียวกลับมาเพิ่มขึ้น 714 ราย หลังจากยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินโควิด-19 ไปเพียง 10 วัน ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าอาจจะเกิดการประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงโตเกียวอีกครั้ง

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.39-111.65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (25/6) ที่ระดับ 111.42/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ