แบงก์กรุงเทพ โละขายที่แปลงใหญ่ทั่วประเทศ โรงแรม-สนามกอล์ฟ-โรงงาน

แบงก์กรุงเทพประกาศเปิดประมูลระบายทรัพย์ “เอ็นพีเอ” ที่่ดินแปลงใหญ่ทั่วประเทศ ทุกประเภททั้งโรงแรม-อาคารสำนักงาน-สนามกอล์ฟ-โรงงาน-โกดังสินค้า-โรงสี รวมถึงท่าเทียบเรือ วงในเผยสถาบันการเงินเร่งระบายทรัพย์ลดราคาเคลียร์พอร์ต จ่อรับหนี้เสียก้อนใหม่ ชี้เอ็นพีเอค้างเก่าลดราคา 50% BAM ยันตลาดยังมีแรงซื้อ เผยล่าสุดปิดดีล โรงงานติดแม่น้ำ โรงอบไม้

เทขายที่แปลงใหญ่ทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ขณะนี้ธนาคารกรุงเทพอยู่ระหว่างการประกาศขายทรัพย์สินพร้อมขาย (NPA : non performing asset) จำนวนมากในราคาพิเศษ ทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องชุดพักอาศัย อาคารพาณิชย์ โรงงานอุตสาหกรรม และอื่น ๆ

รวมทั้งมีการประกาศขายที่ดินแปลงใหญ่ทั่วประเทศ ทั้งสนามกอล์ฟ โรงแรม โรงงาน โรงสี โกดังสินค้า รวมทั้งที่ดินเปล่า อาทิ ในเขตกรุงเทพฯ สนามกอล์ฟเนื้อที่ 1,082 ไร่ ซอยสุวินทวงศ์ 96 เขตหนองจอก, อาคารสำนักงานบนที่ดิน 1 ไร่ ถนนศรีนครินทร์, โรงงาน 11 ไร่ ประชาอุทิศ 54 ราษฎร์บูรณะ

หรือในเขตปริมณฑล เช่น ที่ดินพร้อมท่าเทียบเรือขนาด 30 ไร่ จังหวัดสมุทรปราการ, โรงงานบนที่ดินขนาด 8 ไร่ ถนนเศรษฐกิจ 1 จังหวัดสมุทรสาคร และที่ดินเปล่า 87 ไร่ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

รวมถึงโรงแรมสูง 9 ชั้น พร้อมอาคารอื่น ๆ บนเนื้อที่กว่า 28 ไร่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โรงงานบนที่ดินกว่า 65 ไร่ ที่จังหวัดปทุมธานี โดยกรณีนี้ธนาคารถือครองกรรมสิทธิ์ร่วมกับบริษัท บริหารสินทรัพย์ทวี จำกัด และธนาคารไทยพาณิชย์

โรงงาน-โรงแรม-โรงสี

นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของโรงงานบนเนื้อที่ 17 ไร่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา, โรงสีและเครื่องจักร เนื้อที่ 32 ไร่ จังหวัดอุบลราชธานี, ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างขนาด 100 ไร่ ที่จังหวัดหนองบัวลำภู

โรงแรมขนาด 2-3 และ 6 ชั้น บนที่ดิน 4 ไร่ อำเภอเมือง จังหวัดตาก, โกดังสินค้าขนาด 90 ไร่ ในอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก, โรงงานพร้อมที่ดิน 214 ไร่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, โกดังสินค้าเนื้อที่ 1 ไร่เศษ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

และในโซนภาคตะวันออกก็มี โรงงานบนที่ดินเกือบ 60 ไร่ ที่อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี, ที่ดินเปล่าเนื้อที่ 68 ไร่ อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด

BBL ขยายช่องทางขาย

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระบวนการจำหน่ายทรัพย์รอการขาย (NPA) ธนาคารมีกรอบเวลาในการถือครองและเวลาจำหน่ายทรัพย์ออกมา ซึ่งในช่วงเวลานี้ธนาคารก็มีการใช้ช่องทางการสื่อสารประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และเว็บไซต์เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าในวงกว้างมากขึ้น

โดยในช่วงเวลานี้ยังมีความต้องการซื้อขายต่อเนื่อง มีนักธุรกิจที่ต้องการมองหาทรัพย์แปลงใหญ่เพื่อต่อยอดธุรกิจ เช่น การขยายโรงงาน เป็นต้น ขณะที่ในส่วนของราคาทรัพย์ ธนาคารจะมีการปรับและทบทวนเพื่อให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งจะขึ้นกับจังหวะและข้อเสนอการต่อรอง หากมีผู้ซื้อหลายราย ธนาคารจะพิจารณาเปรียบเทียบและดูราคาที่เหมาะสมที่สุด

“อย่างไรก็ดี ปัจจุบันธนาคารมีทรัพย์เอ็นพีเอไม่เยอะมาก เนื่องจากเราใช้วิธีการปรับโครงสร้างหนี้โดยใช้วิธีการตีโอนทรัพย์ชำระหนี้เป็นวิธีการสุดท้าย เพราะเป็นภาระถ้าเราเอาเข้ามาเยอะเกินไป”

แบงก์เทขายทรัพย์ตามกฎ ธปท.

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการตัดขายสินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ) ของสถาบันการเงิน ส่วนใหญ่จะเป็นการทยอยขายตามภาวะตลาด อย่างไรก็ดี ช่วงนี้ปริมาณธุรกรรมการขายน้อยลง เพราะความต้องการซื้อน้อยลง รวมถึงราคาซื้อขายที่ไม่ค่อยดีนักตามภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

อย่างไรก็ตาม การบริหารสินทรัพย์รอการขายของธนาคารต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่จะให้สามารถถือครองได้เป็นระยะเวลา 10 ปี กรณีเมื่อครบตามกำหนดและยังไม่สามารถขายทอดตลาดได้ ธนาคารจะต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ 100% และจะต้องจัดทำรายงานส่ง ธปท.ทุกไตรมาส ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก ระยะเวลาถือครองได้ 5 ปี

หั่น 50% ระบายทรัพย์ค้างเก่า

อย่างไรก็ดี หากดูแนวโน้มการขายเอ็นพีเอภาพรวมพบว่า เอ็นพีเอที่อายุไม่เกิน 4 ปี จะเป็นช่วงขายได้เยอะที่สุด ประมาณ 60-70% ของพอร์ตเอ็นพีเอที่เข้ามาในแต่ละปี และถ้าเอ็นพีแอที่ขายไม่ได้และถูกแช่มานานเกิน 4 ปี ก็จะยิ่งขายได้ยากมากขึ้น โดยทรัพย์ที่ครบอายุ 10 ปี สถาบันการเงินส่วนใหญ่จะต้องลดราคามากกว่า 50% หรือมีโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นการขายให้มากขึ้น

“แรงเทขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และสินทรัพย์เอ็นพีเอของสถาบันการเงินในระบบขึ้นอยู่กับนโยบายแต่ละธนาคาร เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์เห็นเทขายออกมาเรื่อย ๆ หรือแบงก์กรุงเทพที่มีประกาศขายช่วงนี้ถี่ อาจเป็นทรัพย์ที่ได้มานานแล้ว และเป็นทรัพย์แปลงใหญ่จึงประกาศเป็นสาธารณะ”

BAM เร่งปิดดีลขายทรัพย์

ด้านนายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) กล่าวว่า การเร่งระบายทรัพย์รอการขายของธนาคารจะมีช่วงระยะเวลากำหนดตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. หากถึงเวลาจะเร่งขายออก โดยบางรายอาจจะลดราคา เพื่อเร่งขายทรัพย์ออก หรือบางสถาบันการเงินอาจจะเดินหาลูกค้าโดยตรง โดยปัจจุบัน BAM มีพอร์ตเอ็นพีเอราว 40% และอีก 60% จะเป็นหนี้เอ็นพีแอล

นายบัณฑิตกล่าวว่า ปัจจุบันในตลาดยังมีแรงซื้อเอ็นพีเออยู่ เพียงแต่ต้องหาลูกค้าให้เจอ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ทยอยปิดดีลการขายทรัพย์ทั้งขนาดเล็กและทรัพย์แปลงใหญ่ เช่น โรงงานติดแม่น้ำ โรงอบไม้ยางพารา พร้อมทั้งตึกออฟฟิศในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นต้น รวมถึงมีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เข้ามาซื้อทรัพย์ที่เป็นบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จทีละ 2-5 หลัง เพื่อไปพัฒนาต่อ หรือคอนโดมิเนียมเพื่อนำไปปล่อยเช่าต่อ

“กลยุทธ์การขายทรัพย์ของเราจะเน้นมาเร็ว เคลมเร็ว ทรัพย์บางประเภทเข้ามาไม่ถึงปีก็ขายออกได้แล้ว จากที่สมัยก่อนหลายคนบอกว่า BAM ขายของแพง เพื่อทำกำไรสูงสุด แต่ในยามเศรษฐกิจแบบนี้ เราจะไม่ถือทรัพย์ไว้นาน เพราะถือไว้เป็นภาระต้นทุนค่าดูแล ส่วนใหญ่เป็นทรัพย์ที่ผู้ซื้อที่เอาไปพัฒนาต่อจะขายได้ไว โดยเฉลี่ยราคาทรัพย์มีตั้งแต่หลักสิบถึงหลายร้อยล้านบาท”

ระบายหนี้เก่า ตั้งรับหนี้ใหม่

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) บริษัทบริหารสินทรัพย์ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าพอร์ตเอ็นพีเอของบริษัทมีไม่มากประมาณ 200 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นที่อยู่อาศัย อาคารชุด ทาวน์เฮาส์ และที่ดินเปล่า

ในช่วงนี้ที่ลูกค้าเจอภาวะวิกฤตโควิด-19 ทำให้ธนาคารต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งบางส่วนก็มีการตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ ธนาคารก็จะเก็บเข้าพอร์ต แต่หากธนาคารเอาเข้าพอร์ตจำนวนมากก็จะเป็นภาระต้นทุนในการบริหารจัดการ จึงจำเป็นต้องทยอยขายทรัพย์ออกมาเพื่อระบายของเก่าและรองรับของใหม่ที่จะเกิดขึ้น


“ตอนนี้ก็เห็นหลาย ๆ แบงก์เริ่มทยอยขายเอ็นพีเอออกมา ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านค่อนข้างเยอะ แต่หนี้รายใหญ่ เช่น โรงแรม โรงงาน ที่ดินเปล่าก็มีไม่น้อย โดยแนวโน้มคาดว่าแบงก์อาจจะรวมทรัพย์ที่อายุเฉลี่ย 7-8 ปี มัดรวมขายเป็นก้อน สำหรับต้นทุนเอ็นพีเอที่บริษัทซื้อมาเฉลี่ยอยู่ที่ 50% ขณะที่ขายทอดตลาดผ่านกรมบังคับคดี ได้ 70-80% ก็ถือว่าคุ้มแล้ว”