หวังแก้หนี้นอกระบบ! “กอบศักดิ์” เผยดันพ.ร.บ.สถาบันการเงินชุมชน 7หมื่นตำบล เข้าครม.ใน2-3เดือน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานเสวนากรณีศึกษา ทางออกการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ : สถาบันการเงินชุมชน บนเวทีการประชุมเวทีสาธารณะ ว่า ด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 3 หัวข้อ “หลักนิติธรรมกับการพัฒนาโดยศึกษาแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9” จัดโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice) หรือ สถาบัน TIJ ว่า ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้ารัฐบาล โดยกระทรวงการคลังกำลังเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันการเงินชุมชน พ.ศ. …. เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรองรับสถานะทางกฎหมายและเป็นกรอบในการดำเนินงานของกองทุนการออมชุมชนระดับต่าง ๆ คาดว่าจะสามารถบังคับใช้กฎหมายได้ภายในสิ้นปี 60

ยกสถานะสถาบันการเงินชุมชนเป็นนิติบุคคล

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า โดยการปรับกองทุน “เพื่อการกู้ยืม” เป็น กองทุน “เพื่อการออม” เพื่อจัดตั้ง “สถาบันการเงินชุมชน” 3.5-7 หมื่นแห่ง หรือ ตำบลละ 1 แห่งทั่วประเทศ มีสถานะเป็นนิติบุคคล ใน 5-10 ปีข้างหน้า ให้เป็นสถาบันการเงินชุมชนระดับตำบล และเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่ายสถาบันการเงินชุมชน ได้แก่ กองทุนหมู่บ้าน 80,000 แห่ง กลุ่มออมทรัพย์ 30,000 แห่ง สหกรณ์ในชุมชน 5,000 แห่ง โดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และธนาคารออมสินเป็นธนาคารผู้ประสานงาน หรือ “พี่เลี้ยง” เชื่อมโยงสถาบันการเงินชุมชนเหล่านี้เข้าด้วยกัน มีสมาคมธนาคารไทยช่วยในการสนับสนุนการยกระดับมาตรฐานให้กับสถาบันการเงินในโครงข่าย และจัดตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินชุมชน” เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ จัดทำแผนแม่บท บูรณาการการทำงานภาคส่วนต่าง ๆ

3 ปัจจัย กับดักหนี้นอกระบบ

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ปัญหาหนี้นอกระบบเกิดจากประชาชนเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ประกอบกับความเสี่ยงและความจำเป็น จนนำไปสู่การเป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งสภาพปัญหาในปัจจุบัน คือ 1.เกิดช่องว่างของการให้บริการระหว่างคนจนกับคนรวยในระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย ซึ่งมีสัดส่วนของคนจนเป็นจำนวนมากเปรียบเสมือนปิระมิด มีผู้มีรายได้น้อยเป็นฐาน 2.เข้าไม่ถึงสาขาธนาคารเพราะอยู่พื้นที่ในชนบท มีต้นทุนในการเดินทางสูง 3.มีธนาคารอยู่ในกรุงเทพมหานครแต่ไม่กล้าเข้า เพราะประชาชนรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจมากที่ต้องเดินไปธนาคาร

ชัด ๆ รวยกระจุก จนกระจาย

“ปัจจุบันโครงสร้างบัญชีเงินฝากของไทย จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อปี 57 พบว่า มีบัญชีรวมทั้งหมด 86 ล้านบัญชี แต่มีบัญชีที่มีเงินฝากไม่ถึง 50,000 บาท ถึง 74 ล้านบัญชี เฉลี่ยเงินต่อบัญชีเพียง 4.8 พันบาท ขณะเดียวกันมีบัญชีที่มีเงินฝาก 10-50 ล้านบาท เพียง 9.1 หมื่นบัญชี และ มีเงินฝากมากกว่า 50 ล้านบาท เพียง 1.6 หมื่นบัญชีเท่านั้น”นายกอบศักดิ์กล่าว