เคลียร์กรอบเงินเฟ้อลงตัว ขุนคลังจ่อเซ็น MOU ธปท.

คลังจ่อเซ็นข้อตกลงกรอบเงินเฟ้อใหม่ชง ครม.รับทราบ พ.ย.นี้ หลังได้ข้อยุติตามข้อเสนอ กนง.ให้ใช้กรอบเดิมที่ 1-4% ชี้ราคาน้ำมันพุ่ง รวมถึงกระทรวงพาณิชย์จัดระเบียบสินค้าที่นำมาคิดเงินเฟ้อใหม่เป็นปัจจัยดันเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมายค่ากลาง 2.5% กลางปีหน้า

นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ได้ข้อยุติร่วมกันเรื่องกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินปี 2561 (กรอบเงินเฟ้อ) ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังแล้ว โดยทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้เสนอมา และ สศค.กำลังเสนอร่างบันทึกข้อตกลง (MOU) ให้ รมว.คลังลงนาม จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ ซึ่งอาจจะทันภายในเดือน พ.ย.นี้

“ตามกฎหมายกำหนดว่า ต้องเสนอก่อนสิ้นปี แต่น่าจะเสนอได้ในเดือน พ.ย.นี้ เพราะได้ข้อยุติมาระยะหนึ่งแล้ว โดยกรอบนโยบายการเงินปีหน้าจะอยู่ที่ 1-4% หรือ 2.5% บวก/ลบ 1.5% ซึ่งทาง ธปท.ก็มองว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ โดยมีหลายปัจจัย ทั้งราคาน้ำมัน ราคาสินค้า รวมถึงการที่กระทรวงพาณิชย์จะมีการจัดระเบียบสินค้าที่นำมาคิดเงินเฟ้อใหม่ด้วย” นายสุวิชญกล่าว

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า การหารือร่วมกับ ธปท. ที่ผ่านมา ทาง ธปท.ยืนยันใช้กรอบเงินเฟ้อเดิมเหมือนกับปี 2560 ซึ่งก็ถือว่ารับได้ เนื่องจากเป็นการบอกว่า ยังมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะมีเงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่กำหนดที่ 1-4% ซึ่งค่ากลางอยู่ที่ 2.5% บวก/ลบ 1.5%

“กรอบเดิมก็เป็นจุดที่รับได้ เพราะเป็นการบอกว่า เรายังมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจของเราจะโตต่อไป โดยจะมีเงินเฟ้ออยู่ในระดับกรอบที่ตั้งไว้ ซึ่งกรอบที่ ธปท.ตั้งไว้ 1-4% มีข้อตกลงกันอยู่ที่ 2.5% เขาก็ยังเชื่อมั่นว่าเงินเฟ้อของไทยจะโตอยู่ในระดับนั้น และจะเป็นส่วนที่จะทำให้การเติบโตของประเทศเข้าสู่ระดับที่เรายังเห็น คือเต็มศักยภาพได้” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายอภิศักดิ์กล่าวอีกว่า กรอบเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ดังกล่าว เป็นกรอบที่ทาง ธปท.ระบุว่า เป็นกรอบระยะปานกลางและระยะยาว อย่างไรก็ดี ทางกระทรวงการคลังเห็นว่าหากเป็นข้อตกลงร่วมกัน ก็ควรจะต้องพยายามใช้ทุกเครื่องมือที่มีอยู่ในการดูแลอัตราเงินเฟ้อให้เข้าสู่กรอบเป้าหมาย ซึ่งการทำให้กรอบเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบ ก็ถือว่าเป็นตัวชี้วัดผลงาน (KPI) ของ ธปท.

“ถ้าอ่านข้อตกลงระหว่างคลังกับ ธปท.จะมีระบุไว้ว่า เขาจะต้องใช้ทุกเครื่องมือ เพื่อทำให้เศรษฐกิจโตตามศักยภาพ คือการดูแลเศรษฐกิจ ถ้าออกมาโตต่ำกว่าเป้า หรือสูงกว่าเป้า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ประเด็นก็คือ ได้ใช้เครื่องไม้เครื่องมือเต็มที่หรือยัง ถ้าใช้เต็มที่แล้วแต่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมหรือของโลกทำให้เป็นอย่างนี้ แบบนี้ก็ต้องรับได้ มันอยู่ที่ว่าได้ทำงานหรือยัง คลังถามไป เขาตอบมาก็จบ” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวในการแถลงผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่า กนง.ประเมินว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2561 เนื่องจากราคาพลังงานน่าจะปรับตัวสูงขึ้น

ขณะเดียวกันนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ตามที่ กนง.ล่าสุด (8 พ.ย.) ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% นั้น จะเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทยอยปรับขึ้น

นายจาตุรงค์กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นช้ากว่าในอดีต เนื่องจากมีแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซ ดังนั้น การปรับตัวของเงินเฟ้อในระยะต่อไปจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ