ปรับแผนขายประกันต่างชาติ เล็งตั้งพูลกลางแชร์ความเสี่ยงเคลมโควิด

สมาคมประกันวินาศภัยไทยจ่อถกตั้ง “พูลกลาง” รับทำประกันสุขภาพชาวต่างชาติ รับลูกรัฐบาลปรับปรุงหลักเกณฑ์ทำประกันสุขภาพสำหรับวีซ่า O-A ขณะที่ตัวเลขยอดขายประกันโควิดสำหรับชาวต่างชาติตั้งแต่ปีก่อนถึงปัจจุบันกว่า 1.6 หมื่นฉบับ เบี้ยประกันกว่า 120 ล้านบาท จ่ายเคลมแล้วกว่า 100 ราย วงเงิน 26 ล้านบาท

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในเร็ว ๆ นี้ สมาคมจะนัดหารือบริษัทประกันวินาศภัย เพื่อหารือถึงการสนองนโยบายภาครัฐ ตามที่ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบในหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติมรองรับการทำประกันสุขภาพ สำหรับชาวต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว nonimmigrant visa หรือ O-A (ระยะ 1 ปี) โดยกำหนดว่าต้องมีประกันสุขภาพ หรือสวัสดิการภาครัฐ ที่มีวงเงินคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล และมีประกันที่ครอบคลุมการรักษาโรคโควิด-19 ไม่น้อยกว่า 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3 ล้านบาท

โดยการขออยู่ต่อ อนุญาตให้ซื้อประกันสุขภาพจากต่างประเทศ หรือมีสวัสดิการภาครัฐจากต่างประเทศได้ ประกอบกับกรณีผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นเหตุให้บริษัทประกันปฏิเสธทั้งหมดหรือบางส่วนให้มีเอกสารแสดงเพิ่มเติม

ได้แก่ หนังสือปฏิเสธการซื้อประกันสุขภาพ และหลักทรัพย์ เงินฝาก ประกันสุขภาพอื่น ๆ รวมวงเงินไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท จากเดิมกำหนดให้ต้องซื้อประกันสุขภาพของไทยที่มีวงเงินสำหรับค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยนอก (OPD) ไม่น้อยกว่า 40,000 บาทและผู้ป่วยใน (IPD) ไม่น้อยกว่า 400,000 บาท

“เราอาจจะเสนอให้มีการรวมศูนย์บริษัทสมาชิกที่สนใจเข้าร่วม หรือเรียกว่า “พูลกลาง” เนื่องจากปัจจุบันต่างคนต่างรับประกันตัวนี้ อย่างไรก็ดี ยังไม่ได้คุยกันว่าจะตั้ง “พูลกลาง” มารับประกันเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูง หรือรับประกันทั้งหมด โดยต้องหารือกันก่อน” นายอานนท์กล่าว

นายอานนท์กล่าวอีกว่า เงื่อนไขใหม่ถือเป็นการรวมความคุ้มครองโรคติดเชื้อโควิดและสุขภาพไว้อยู่ในกรมธรรม์ประกันสุขภาพเดียว ดังนั้น ต่อไปชาวต่างชาติที่เข้ามาต้องซื้อประกันสุขภาพวงเงินคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท โดยเบี้ยประกันก็จะขึ้นอยู่แต่ละช่วงอายุและผลสุขภาพรายบุคคล ซึ่งกลุ่มเสี่ยงสูงเบี้ยจะแพงมาก

“แต่เดิมชาวต่างชาติที่อายุเกิน 70 ปี ไม่ค่อยมีใครรับทำประกัน ทั้งในไทยและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง (high risk) ซึ่งถ้ารับประกันมีโอกาสเจ๊งและขาดทุนมาก โดยเงื่อนไขเดิมจะไม่มีข้อยกเว้น ส่งผลให้ขาดคุณสมบัติในการขอวีซ่า ทั้งนี้ เกณฑ์ใหม่ที่ออกมาถือเป็นการผ่อนปรนมากขึ้น” นายอานนท์กล่าว

นางสาวกัลยา จุกหอม ผู้ช่วยผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามเกณฑ์ใหม่ วีซ่า O-A จะครอบคลุมไม่เฉพาะแค่ชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย แต่รวมไปถึงชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยแล้วด้วย ซึ่งต้องทำประกันสุขภาพ

“เนื่องด้วยกฎหมายตัวนี้ยังไม่ประกาศบังคับใช้ ทำให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยต้องซื้อประกันครอบคลุมการรักษาโควิด-19 ไม่น้อยกว่า 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ คู่กับค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในเหมือนเดิม”

ทั้งนี้ เดิมตั้งแต่ปีที่แล้วศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้เห็นชอบมาตรการเปิดประเทศแบบจำกัดจำนวน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 ด้วยการรับเฉพาะนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (special tourist visa : STV) ที่จะมาพำนักอยู่ในประเทศไทยระยะยาวไม่ต่ำกว่า 90-270 วัน

โดยกำหนดให้ต้องทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองโรคโควิด-19 ที่มีวงเงินคุ้มครองไม่น้อยกว่า 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 3.2 ล้านบาท และต้องทำประกันสุขภาพและอุบัติเหตุที่มีวงเงินคุ้มครองไม่น้อยกว่า 40,000 บาทสำหรับผู้ป่วยนอก (OPD) และไม่น้อยกว่า 400,000 บาทสำหรับผู้ป่วยใน (IPD) ตลอดระยะเวลาที่พำนักอยู่ในประเทศไทย

นางสาวกัลยากล่าวด้วยว่า ข้อมูลล่าสุดจนถึงปัจจุบัน (ณ 30 มิ.ย. 2564) มียอดขายกรมธรรม์ประกันโควิดสำหรับชาวต่างชาติทั้งสิ้น 16,394 ฉบับ คิดเป็นเบี้ยประกันรวม 126.31 ล้านบาท จ่ายเคลมประกันไปแล้วทั้งสิ้น 114 ราย มูลค่ารวม 26.12 ล้านบาทฟ