ดอลลาร์สหรัฐทรงตัว จับตารายงานการประชุมเฟดคืนนี้

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 6 กรกฎาคม 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/7) ที่ระดับ 32.13/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (5/7) ที่ระดับ 32.12/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแกว่งตัวกรอบแคบเนื่องจากเมื่อวานนี้ (5/7) เป็นวันหยุดของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนักลงทุนจับตาการเปิดเผยรายงานการประชุมเดือน มิ.ย.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันพุธที่ 7 ก.ค.ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับช่วงเช้าของวันพฤหัสบดีที่ 8 ก.ค. ตามเวลาไทย

นอกเหนือจากรายงานการประชุมเฟดแล้ว คาดว่านักลงทุนจะจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ด้วย โดยคืนนี้ตลาดรอดูตัวเลขดัชนีภาคการผลิตเดือน มิ.ย. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และธนาคารกลางออสเตรเลียประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทยังแกว่งตัวอยู่ในกรอบ แต่ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องจากความกังวลตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนาย 2564 อยู่ที่ระดับ 80.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 82.3 ในเดือนพฤษภาคม 2564 โดยค่าดัชนีฯปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำที่สุดในรอบ 12 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.08-32.17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.16/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (6/7) ที่ระดับ 1.1865/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (5/7) ที่ระดับ 1.1860/61 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าหลังไอเอชเอส มาร์กิต ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเดือน มิ.ย.ของยูโรโซยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ระดับ 59.5 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี

โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 57.1 ในเดือน พ.ค. ซึ่งทำให้นักลงทุนมีความหวังว่า การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยหนุนภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของยูโรโซนด้วย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1846-1.1895 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1839/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/7) ที่ระดับ 110.92/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (6/7) ที่ระดับ 110.93/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ กระทรวงฝ่ายกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (6/7) ว่าการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 11.6% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากขยายตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเดือน เม.ย. โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ทรุดตัวลงอย่างหนักในปีที่แล้ว อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนถือเป็นดัชนีชี้วัดการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.75-110.93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.81/82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินธนาคารกลางออสเตรเลีย (6/7), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของสหรัฐประจำเดือนมิถุนายน (6/7), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมนีจากสถาบัน ZEW ประจำเดือนกรกฎาคม (6/7), จำนวนตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครของสหรัฐประจำเดือนพฤษภาคม (7/7), รายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (8/7), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ครั้งแรกของสหรัฐ (8/8), อัตราเงินเฟ้อของจีน ประจำเดือนมิถุนายน (9/7)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.20/0.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือน ต่างประเทศอยู่ที่ 2.00/6.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ